หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปล่อยไว้อาจอันตรายได้
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
07-พ.ย.-2566
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งส่วนใหญ่อาจคิดว่าตัวเองแค่ปวดหลังธรรมดา และยังสามารถทนกับอาการดังกล่าวได้ จึงไม่จำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์ แต่เมื่อปล่อยไว้นานไปอาการก็จะเริ่มมากขึ้น และอาจเสี่ยงเดินไม่ได้ในอนาคต หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี


หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เกิดจากสาเหตุอะไร ?
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ อก และเอว ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามช่วงอายุ และการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องก้ม หรือเงยหลังเป็นประจำ การเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรง จนทำให้เกิดจากการฉีกขาดของเส้นใยของหมอนรองกระดูกสันหลัง และค่อยๆ ดันตัว หรือปลิ้นออกมาจนไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง มีความรู้สึกชาบ่อยๆ บริเวณขา น่อง และเท้า คล้ายเหน็บชาหรือตะคริว บางครั้งอาจปวดจนไม่สามารถเดินต่อได้ หรืออาจอันตรายถึงขั้นกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และในบางรายอาจส่งผลกระทบต่อระบบควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะได้ลำบากมากขึ้น

ความรุนแรงของอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • ระยะแรก เพราะเมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีความเสื่อม ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งในช่วงแรกอาจมีอาการปวดหลังแบบเป็น ๆ หาย ๆ จนปวดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
  • ระยะกลาง หมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือปลิ้นออกมาเบียดเสียดหรือกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณช่วงคอลงไปถึงแขน หรือจากหลังลงมาถึงขาจรดเท้า และอาจมีอาการชาร่วมด้วย
  • ระยะรุนแรง มีอาการปวดมากขึ้นและอาการชาร่วมด้วย อ่อนแรง เส้นประสาทอักเสบและเสี่ยงที่จะพิการได้

ตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
การตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะตรวจวินิจฉัยตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัย และช่วยในการวางแผนการรักษา เช่น ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ และความรุนแรงของระดับการกดทับเส้นประสาท รวมถึงระยะเวลาของการเกิดอาการซึ่งการรักษาจะเริ่มจากการให้ยา การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ซึ่งมีโอกาสที่จะหายได้ แต่หากการรักษายังไม่ได้ผล และตรวจวินิจฉัยแน่ชัดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์อาจพิจารณาการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การฉีดยาประเภทสเตียรอยด์ร่วมกับยาชาเข้าโพรงไขสันหลัง หรือฉีดเข้าไปตำแหน่งใกล้เส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของการปวด

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เมื่ออาการรุนแรง
เพราะเมื่อใช้การรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรค เช่น ขับถ่ายลำบาก หรือปวดจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด เพื่อตัดเอาหมอนรองกระดูกเฉพาะส่วนที่เคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทออก โดยการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดแผล และการผ่าตัดส่องกล้อง

การผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลัง ดีอย่างไร
การผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลัง จะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นเส้นประสาทได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด โดยที่สามารถนำหมอนรองกระดูกชิ้นที่กดทับเส้นประสาทออกได้ง่ายขึ้น และแพทย์สามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่มีการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อตรงตำแหน่งของหมอนรองกระดูกที่เป็นปัญหาได้ตรงตำแหน่ง และหลังผ่าตัดจะมีขนาดแผลเล็ก ฟื้นตัวไว และสามารถกลับไปเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

เพราะฉะนั้น หากคุณกำลังเผชิญปัญหาอาการปวดหลัง หรือมีภาวะเสี่ยงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษา เพราะการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เหมือนเดิม


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อาคาร 1 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1102-1105

Line id : @Paolochokchai4