ตรวจมะเร็งปากมดลูก รู้ได้ก่อนและป้องกันได้
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
11-เม.ย.-2566

มะเร็ง” คำที่เมื่อได้ยินแล้วสามารถคร่าความรู้สึกดีๆ ได้ในทันที แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นอาจเปลี่ยนไป ถ้าหากเราเปิดใจรับฟังและมองว่ามะเร็งเป็นเพียงโรคๆ หนึ่งเท่านั้น และความสำคัญก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อโรค... แต่อยู่ที่การตรวจคัดกรอง!

 

โดยเฉพาะ มะเร็งปากมดลูก” ซึ่งเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV และเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวัง เพียงแค่เลิกเขินหรือหยุดอายและทำตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะทำให้เราห่างไกลจากคำว่ามะเร็งปากมดลูกได้ไม่ยาก ซึ่งวันนี้ แพทย์หญิงชลธิดา เอี่ยมสำอาง สูตินรีแพทย์ จะได้มาบอกถึงรายละเอียดของโรคนี้กัน

 

มะเร็งปากมดลูก รู้ได้ก่อนและป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งที่พบในผู้หญิง รองมาจากมะเร็งเต้านม จากอุบัติการณ์การเกิดโรคในแต่ละปี มีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 10,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 27 คน และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกราว 5,200 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน จึงนับได้ว่าเป็นโรคที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก

และเนื่องจาก การมะเร็งปากมดลูกนั้นมักเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี และเชื้อนี้เมื่อติดแล้วจะไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกในทันที โดยเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 7-10 ปี กว่าจะทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์โดยส่วนใหญ่จะเริ่มในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นมะเร็งปากมดลูกจึงพบบ่อยในสตรีที่มีช่วงอายุระหว่าง 35-60 ปี

 

เพศสัมพันธ์กับมะเร็งปากมดลูกเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

อาจเรียกได้ว่าเป็นความโชคดีมากๆ ที่เราทราบสาเหตุของการเกิดโรค ว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (human papillomavirus) หรือที่เรียกว่า เอชพีวี (HPV) ซึ่งเชื้อนี้จะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงน้อยคือ ผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ในทางกลับกันผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ผู้ที่สูบบุหรี่มาก ผู้ที่ประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น สำหรับเรื่องความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ ในบางครั้งแม้จะมีคู่นอนเดียวก็ยังอาจเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ถ้าเชื้อที่ได้รับนั้นเป็นเชื้อในสายพันธ์ที่รุนแรง เช่นเดียวกันคนไข้หลายๆ คนที่มีสามีคนเดียวก็เป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน

 

มะเร็งปากมดลูก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะเริ่มต้น

ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่พบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

  • ระยะท้ายๆ จะเริ่มมีอาการเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกปนตกขาว ตกขาวเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าต้องมารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และถ้าหากยิ่งปล่อยไว้จนมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ส่วนใหญ่จะเป็นมากแล้ว และมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

การตรวจมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจได้ตลอดเวลา ยกเว้นช่วงที่มีประจำเดือน โดยขั้นตอนการตรวจภายในนั้น หมออยากจะบอกถึงผู้หญิงทุกคนว่า อย่ากังวล อย่าอาย เพราะปัจจุบันใครๆ ก็ตรวจกัน
               อีกทั้งการตรวจนั้นแพทย์จะให้ความสนใจกับการตรวจคลำก้อนภายในเพื่อค้นหาความผิดปกติ ซึ่งหลายคนมักกลัวว่าจะเจ็บ อันนี้ก็คลายกังวลได้เลย เพราะหมอจะพิจารณาจากสถานภาพของคุณผู้หญิงเป็นหลัก เครื่องมือที่ใช้ก็มีตัวช่วยมากมายที่จะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บเวลาตรวจ แถมใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีคุณก็จะสามารถค้นหาความผิดปกติได้ว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่
               และเหตุผลหลักที่ปัจจุบันยังพบมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมาก ก็เพราะว่าไม่ยอมมาตรวจ เพราะอาย ไม่กล้า ทำให้พลาดโอกาสดีๆ ไป ทั้งๆ ที่กว่าเชื้อเอชพีวีจะก่อโรคนั้นนานเป็นสิบปี ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเรามีเวลาที่จะตรวจพบก่อนเกิดโรค หรือพบในระยะเริ่มต้นได้ก่อนหลายปีเช่นเดียวกัน”

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

1.วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกตินเพร็พ (ThinPrep) + การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะนอกจากค้นหาความผิดปกติแล้ว ยังทำให้รู้ลึกมากขึ้นว่ามีการติดเชื้อเอชพีวีหรือไม่ เพราะถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกต้องมีการติดเชื้อเอชพีวีก่อน ดังนั้น ถ้าไม่มีการติดเชื้อสามารถมั่นใจได้ถึง 99% ว่าในช่วง 1-2 ปีที่รับการตรวจโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกจะน้อยมาก

2.วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกตินเพร็พ (ThinPrep) พัฒนามาจากวิธีแปปเสมียร์ มีประสิทธิภาพและแม่นยำประมาณ 90-95%

3.วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกแปปเสมียร์ (Pap smear) เป็นวิธีการตรวจที่ราคาไม่สูง แต่ด้านความแม่นยำอาจไม่มากนัก คือประมาณ 50 %

 

ปัจจุบันผู้หญิงมีทางเลือกในการป้องกันโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (Human Papillomavirus หรือ วัคซีนเอชพีวี) วัคซีนสามารถฉีดได้ได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี ถ้าดีที่สุดคือในผู้ที่อายุยังน้อย และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มาฉีดวัคซีนป้องกันกับหมอนั้น จะเป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงานอายุ 25-35 ปี ซึ่งวัคซีนสามารถช่วยป้องกันได้ประมาณ 90%

 

การฉีดวัคซีนป้องกันเป็นสิ่งที่ดี เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเพียงจำนวนน้อยนิดที่ทราบสาเหตุการเกิดโรค และมีวัคซีนสำหรับช่วยป้องกัน จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าที่ผู้หญิงเราจะเข้ามาฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก

เมื่อตรวจมะเร็งปากมดลูกและพบว่าคนไข้เป็นมะเร็งปากมดลูก สิ่งที่ต้องพิจารณาและใส่ใจสำหรับแพทย์ คือวิธีการพูดเพื่อบอกผลการรักษาให้กับคนไข้ได้ทราบ ซึ่งหมอเชื่อว่าวิธีการบอกที่นิ่มนวล ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายแต่ไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจของคนไข้ จะช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ และความเข้าใจที่ถูกต้องได้ เพราะนอกจากหมอจะเป็นผู้รักษาแล้ว ยังต้องเป็นเสมือนที่พึ่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไข้ เพราะคนไข้มะเร็งนั้นนอกจากมีญาติคอยให้กำลังใจแล้ว ส่วนใหญ่จะยึดเอาหมอที่รักษาเป็นที่พึ่งอีกทางหนึ่ง เพราะเสมือนว่าเขาฝากชีวิตให้เราดูแล หมอจึงต้องใส่ใจดูแลคนไข้ สร้างกำลังใจและความรู้สึกดีๆ ให้คนไข้ไปพร้อมๆ กับการดูแลทางการแพทย์”

 

ความรู้สึกดีๆ ที่เป็นหมอ

               การเป็นหมอทำให้มีโอกาสดีๆ ได้เห็นความงดงามของชีวิต เช่น คนไข้ท่านหนึ่งอายุยังน้อยที่เข้ามารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกพบเซลล์ที่ผิดปกติ จึงรับการรักษาตามขั้นตอนจนกระทั่งหายหลังจากที่หายแล้วคนไข้ตั้งครรภ์และกลับมาฝากครรภ์กับหมอ ซึ่งขณะนั้นจะคอยตรวจติดตามผลว่ายังมีเซลล์ผิดปกติหรือไม่ และเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่พบความผิดปกติใดๆ หมอดูแลครรภ์ให้คนไข้มาตลอดระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งในเคสนี้เรียกได้ว่านอกจากดูแลคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์แล้ว ยังต้องใส่ใจให้ความสำคัญกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นหลักอีกด้วย
               และสุดท้ายของขวัญที่แสนพิเศษก็เกิดขึ้นเมื่อคนไข้คลอดลูกอย่างปลอดภัย ประกอบกับหลังคลอดตรวจมะเร็งปากมดลูกอีกครั้งไม่พบความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งทำให้หมอยิ่งรู้สึกดีว่าเราได้มีส่วนช่วยรักษาดูแลชีวิตคนไข้ให้หายจากโรคมะเร็ง และยังได้ดูแลชีวิตน้อยๆ ในครรภ์ให้กับคนไข้อีกด้วย
                มันเป็นความยินดีและความสุขที่ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้เลย ทำให้ยิ่งรู้สึกดีที่ได้เป็นสูตินรีเวช เพราะการเริ่มทำงานด้านนี้เลือกเพราะชอบที่จะทำการผ่าตัด รู้สึกว่าเป็นความท้าทาย และมีความสุขเมื่อได้ทำคลอด เพราะมันเป็นเวลาของความสุขของทุกๆ คน รวมถึงแอบคิดว่าถ้าคนไข้บางคนที่เป็นเหมือนหมอตอนสมัยวัยรุ่นที่ต้องเข้ามาพบสูตินรีแพทย์เพราะเป็นตกขาว แต่ต้องตรวจกับหมอผู้ชายทำให้รู้สึกเขินอายจนไม่กล้าตรวจ แต่ถ้าวัยรุ่นหรือสาวๆ
ได้ตรวจกับหมอผู้หญิงคงสบายใจ คลายกังวลมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลประกอบกันที่ทำให้หมอเลือกทางเดินสายแห่งความสุข เส้นทางแห่งการดูแล การช่วยเหลือ และได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นตลอดเวลาเช่นทุกวันนี้”

 

พญ.ชลธิดา เอี่ยมสำอาง

สูตินรีแพทย์ ประจำศูนย์สุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 1203-1204