ดูอย่างไรถึงใช่...ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
14-ก.ย.-2566

ดูอย่างไรถึงใช่...ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

‘น้ำตาล’ และ ‘คาร์โบไฮเดรต’ นับเป็นสารอาหารหลักที่ร่างกายขาดไม่ได้ และยังเป็นส่วนผสมสำคัญที่ประกอบอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มแทบทุกเมนู แต่หากบริโภคมากเกินความจำเป็นต่อวัน อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น จนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

 


รู้จักกับ “ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง”

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือหากวัดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลจะได้ผลที่มีค่าสูงเกิน 100 มก./ดล. (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) หลังอดอาหาร 8 ชม. ซึ่งหากปล่อยไว้ ไม่ทำการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต

 

ความผิดปกติของอินซูลิน...สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราทานอาหารเสร็จเรียบร้อย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน “อินซูลิน” จากตับอ่อน ทำหน้าที่นำน้ำตาลในหลอดเลือดไปเผาผลาญเป็นพลังงานให้กับเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะควบคุมให้ร่างกายรักษาระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ

แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ตับอ่อนจะไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาได้เพียงพอหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้เต็มที่ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลง

 


อย่างไรก็ตาม ในคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานก็อาจเกิดภาวะดื้ออินซูลินได้เช่นกัน โดยอาจเกิดจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือเป็นโรคบางอย่างได้ เช่น

  • การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ในเวลาสั้นๆ ทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมาไม่ทัน
  • ขาดการออกกำลังกาย ร่างกายไม่นำน้ำตาลที่สะสมอยู่ออกมาใช้เป็นพลังงาน
  • มีภาวะเครียดสะสม ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล กระตุ้นให้ร่างกายปล่อยน้ำตาลออกมาเป็นพลังงานฉับพลัน ยิ่งเครียดมาก น้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูงตาม
  • ร่างกายติดเชื้อ
  • เป็นโรคที่เกี่ยวกับตับ เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือมะเร็งตับ ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
  • ได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาขับปัสสาวะ

 

สัญญาณเตือน! ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

  • กระหายน้ำมาก ต้องดื่มน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • ปวดศีรษะ
  • มีปัญหาทางสายตา หรือมองเห็นไม่ชัด (ภาวะเบาหวานขึ้นตา)
  • หอบเหนื่อยง่าย

 


ซึ่งหากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ร่างกายจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการสะสมของสารคีโตน (เมื่อร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลได้ ตับจึงเผาผลาญไขมันมาเป็นพลังงานแทน ทำให้ได้สารคีโตนออกมา เมื่อคีโตนในเลือดสูง จึงเกิดเป็นภาวะเลือดเป็นกรด) ส่งผลให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงกว่าเดิม เช่น

  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักตัวลด
  • ปากแห้งแตก
  • แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย
  • บางรายอาจมีอาการรุนแรง รู้สึกสับสน งุนงง และหมดสติได้

ทั้งนี้สัญญาณเตือนเหล่านี้อาจไม่ได้แสดงให้เห็นในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทุกราย ดังนั้นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำจึงช่วยบ่งบอกภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

 


ระดับน้ำตาลเท่าไหร่ถึงไม่ปกติ?

วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมที่สุดต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ ผลที่ได้ออกมาจะเป็นค่ามิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งสามารถอ่านค่าได้ ดังนี้

  • ค่าระดับน้ำตาลอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าอยู่ในระดับปกติ
  • ค่าระดับน้ำตาลอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
  • ค่าระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

 

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรักษาได้...แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

ในการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ซึ่งในขั้นต้นสามารถรักษาได้โดย

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร เช่น ลดการทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง ร่วมกับดื่มน้ำให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรระวังในการเลือกประเภทของการออกกำลังกาย โดยสามารถขอคำแนะนำได้จากแพทย์ผู้ดูแลเพิ่มเติม
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาบางชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการทานยาที่ส่งผลต่อระดับอินซูลินในร่างกาย
  • หมั่นจดบันทึกและตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูเฝ้าระวังความผิดปกติของร่างกาย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์เป็นประจำ
  • หากพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเป็นประจำ ร่วมกับตรวจร่างกายเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต นอกจากนี้เรายังสามารถรับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคร้ายในอนาคตได้เช่นกัน

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn