7 อาการสัญญาณร้ายมะเร็งปากมดลูก
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
28-ก.พ.-2566

7 อาการสัญญาณร้ายมะเร็งปากมดลูก

รู้หรือไม่ว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิต และถึงแม้จะเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่เราทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด ทั้งยังมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันได้ก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักจะมาก็ต่อเมื่อมีอาการ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นมะเร็งก็มักอยู่ในระยะลุกลามแล้ว แต่หากเราตระหนักโดยการป้องกัน หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ก็จะช่วยให้พบแนวโน้มของการเกิดโรคและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

 


HPV ไวรัสต้นตอ ก่อมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus บริเวณเซลล์ปากมดลูก และเชื้อนั้นเกิดการกลายพันธุ์จนพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ซึ่งถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อก็สามารถรับเชื้อ HPV ได้อย่างง่ายๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น รูปแบบการใช้ชีวิตหรือสภาพแวดล้อม ก็ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน ทั้งนี้ เชื้อไวรัส HPV มีอยู่หลายชนิด คือชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และชนิดไม่รุนแรงที่อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ได้

 

ไม่มีอาการเตือน...รู้ตัวอีกทีก็เป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว

อย่างที่กล่าวข้างต้น เชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อกันได้จากการมีเพศสัมพันธ์ และแม้จะใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับเชื้อ HPV ในระยะแรก ตัวเชื้อจะยังไม่แสดงอาการออกมา เนื่องจากเชื้อยังไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็ง โดยเชื้อจะใช้เวลาพัฒนาอยู่ในร่างกายประมาณ 10-15  ปี ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง จากนั้นร่างกายจึงเริ่มแสดงอาการออกมา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือมีอาการแล้ว เมื่อเข้ารับการตรวจจึงพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วนั่นเอง

 


สัญญาณเตือนจากอาการของมะเร็งปากมดลูก

  1. มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ทั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว รวมถึงการมีประจำเดือนมามาก หรือกะปริบกะปรอยในระหว่างรอบเดือนด้วย
  2. มีตกขาวผิดปกติออกจากช่องคลอด เช่น ตกขาวที่มีเลือด มีหนอง มีเศษเนื้อปน รวมทั้งสี กลิ่น และปริมาณที่ผิดปกติ
  3. มีอาการเบื่ออาหาร ทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหารจนทำให้น้ำหนักลดลง
  4. มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการทานอาหารได้น้อยลง หรือมีภาวะโลหิตจาง
  5. ปวดบริเวณท้องน้อยผิดปกติ อาจทำให้ขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก หรือมีเลือดออกมา
  6. รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หากเตรียมตัวพร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ยังรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์อยู่ อาจเป็นสัญญาณเล็กๆ ของอาการมะเร็งปากมดลูกได้
  7. ขาบวม จะเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว

 

ใครบ้าง...เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

  1. ผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
  2. ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  3. ผู้หญิงที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  4. มีประวัติเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มาก่อน เช่น เริม หนองใน ซิฟิลิส หรือโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์
  5. เคยคลอดบุตรมากกว่า 3 คนขึ้นไป
  6. ผู้หญิงที่สูบบุหรี่
  7. ผู้หญิงที่มีประวัติทานยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 5 ปี)

 


ป้องกันให้ถูก มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้

จากปัจจัยและความเสี่ยงดังกล่าว เราสามารถลดเสี่ยงและป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนี้

  1. งดสูบบุหรี่
  2. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีคู่นอนหลายคน
  3. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อรักษาตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง
  4. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (ป้องกันการติดเชื้อ HPV) โดยมีอยู่ 2 ชนิด คือ

     - ชนิด 4 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%

     - ชนิด 9 สายพันธุ์ : สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า 90%

โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี หรือแม้ในผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดได้เช่นกัน

 

ตรวจให้ดี มีวิธีรักษา

วิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดยการตรวจภายในแล้วป้ายเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือที่เราเรียกว่า “การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกๆ 1-2 ปี โดย หากผู้หญิงไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยขึ้นอยู่กับว่าสิ่งไหนเกิดก่อน หากตรวจพบมะเร็งปากมดลูกแต่เนิ่นๆ การรักษาก็มีหลายวิธี และสามารถรักษาให้หายได้

 

ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีสัญญาณอาการเตือนใดๆ หรือพบร่วมกันหลายอาการ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะถึงแม้หากตรวจแล้วไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ก็ได้ แต่จะให้ดีที่สุด คือควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหมั่นตรวจภายในเป็นประจำเมื่อถึงวัยอันควร โดยไม่ต้องรอให้มีอาการใดๆ เสียก่อน

บทความโดย

แพทย์หญิงญัฐณิชา สิมะโรจนา

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn