ถุงน้ำรังไข่ ภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
21-มิ.ย.-2566

ถุงน้ำรังไข่ ภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิง

"ถึงแม้อาการปวดท้องจะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงหลายคนเคยชิน โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือนก็มักปวดท้องมากเป็นพิเศษ แต่อาการปวดท้องไม่ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ไม่ควรมองข้าม เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ ‘โรคถุงน้ำในรังไข่’ ก็เป็นได้"

 


โรคถุงน้ำรังไข่ ที่ควรรู้จัก

โดยปกติแล้ว ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ที่รังไข่ที่เกิดขึ้นมักฝ่อไปเองได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ก็ยังมีถุงน้ำบางประเภทที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เพราะในบางครั้งถุงน้ำที่รังไข่อาจทำให้มีอาการรุนแรง เช่น ทำให้ปวดท้องรุนแรง โดยมักจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ถุงน้ำแตก ถุงน้ำบิดขั้ว ซึ่งถ้าถุงน้ำรังไข่แตกอาจจะทำให้มีพังผืดในท้อง ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ลามไปถึงการมีลูกยาก โดยเฉพาะถ้ามีการบิดขั้วเกิดขึ้น อาจทำให้ต้องเสียรังไข่ข้างนั้นไปเลยก็ได้


ในส่วนที่หลายคนกังวลว่าถุงน้ำรังไข่จะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่าโอกาสค่อนข้างน้อย แต่แพทย์ก็จะระมัดระวังและตรวจอย่างรอบคอบ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ซึ่งได้แก่ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ รวมทั้งการอัลตราซาวด์แล้วพบลักษณะของถุงน้ำขอบไม่เรียบ พบก้อนเนื้อตันภายใน พบน้ำในช่องท้อง ซึ่งถ้าแพทย์ยังไม่พบสาเหตุหรือลักษณะของโรคที่แท้จริง ก็อาจจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ต่อไป

 

ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่มี 3 ประเภท ได้แก่

  1. ถุงน้ำที่เกิดขึ้นได้เองตามฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง คือ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ในเพศหญิง โดยจะเป็นถุงน้ำที่โตขึ้นเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และหลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะค่อยๆ ยุบตัวไปเอง
  2. เนื้องอกรังไข่ ซึ่งมี 2 ประเภท คือ เนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงซึ่งไม่ใช่ชนิดเดียวกับมะเร็ง กับชนิดร้ายแรงที่เป็นชนิดเดียวกับมะเร็ง โดยมากเนื้องอกแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะที่แพทย์สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด อาทิ Dermoid Cyst หรือ ถุงน้ำเดอร์มอยด์ ซึ่งภายในถุงน้ำมักจะมีน้ำ ไขมัน เส้นผม รวมทั้งกระดูกและฟัน ตรวจพบได้ด้วยการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวด์ ส่วนเนื้องอกชนิดที่เป็นมะเร็งบางชนิด จะมีการสร้างสารเคมีที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสูง มากๆ ในกระแสเลือดได้ เช่น สาร CA 125 ก็ทำให้แพทย์สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าถึงโอกาสที่จะทำให้เป็นมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัย
  3. ถุงน้ำที่มีลักษณะคล้ายเนื้องอก คือ ถุงน้ำอันเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ เกิดขึ้นที่รังไข่เมื่อมีรอบเดือน โดยเยื่อบุโพรงมดลูกที่เกาะอยู่ที่รังไข่จะทำให้รังไข่อักเสบกลายเป็นถุงน้ำที่มีของเหลวภายในคล้ายเลือดเก่า สีข้น คล้ายช็อกโกแลต ทำให้เรียกกันว่า ช็อกโกแลตซีสต์ นั่นเอง



สัญญาณเสี่ยงเป็นเนื้องอกรังไข่

  • หน้าท้องโตขึ้นผิดปกติ
  • เริ่มมีอาการปวดท้องน้อย และมักปวดช่วงมีประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากขั้วถุงน้ำรังไข่บิดหรือแตก
  • รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่ซีสต์โตและไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • ประจำเดือนมามาก หรือมากะปริดกะปรอยผิดปกติ มีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้นทุกเดือน

 


การตรวจวินิจฉัยโรคถุงน้ำรังไข่

กรณีผู้ป่วยยังเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ การตรวจสุขภาพทั่วไปหรือตรวจเพราะมีอาการปวดท้องน้อย แพทย์มักจะตรวจด้วยการทำอัลตราซาวด์ที่ท้องน้อย โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมากๆ เสียก่อน จึงจะใช้เครื่องตรวจเพื่อทำให้เห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน โดยบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น

หัวตรวจอัลตราซาวด์ที่ใช้ตรวจทางช่องคลอดหรือทวารหนักในปัจจุบันนั้น จะเป็นหัวตรวจขนาดเล็กประมาณเท่านิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บแก่ผู้เข้ารับการตรวจได้ดี นอกจากแพทย์จะตรวจภายในและอัลตราซาวด์แล้ว ยังมีการซักประวัติ เพื่อสอบถามอาการต่างๆ รวมทั้งประวัติการมีประจำเดือนก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการวินิจฉัยโรค

 

การรักษา

1. กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิด Functional Cyst แพทย์จะนัดตรวจติดตามว่าจะยุบไปเองหรือไม่ ใบบางรายแพทย์อาจจะให้รับประทานยา แล้วนัดตรวจซ้ำ หากซีสต์ไม่ยุบหรือโตขึ้น อาจเป็นการบ่งชี้ว่าไม่ใช่ Functional Cyst ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อไป

2. กรณีที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ถุงน้ำรังไข่แตก ถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด อาการเหล่านี้เกิดได้ทั้ง Functional Cyst และเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก และต้องได้รับการผ่าตัดรักษาฉุกเฉิน เว้นแต่ในรายที่เลือดออกในท้องไม่มาก กรณีนี้อาจสังเกตอาการภายในโรงพยาบาล หากอาการดีขึ้นก็สามารถกลับบ้านได้

3. กรณีที่ต้องผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ตรวจจนมั่นใจแล้วว่าเป็นซีสต์ที่รังไข่ชนิดที่ไม่ใช่ Functional Cyst เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ขนาดใหญ่ หรือมีผลต่อการมีบุตรยาก ซีสต์ที่เป็นเนื้องอกรังไข่ แพทย์จะวางแผนการรักษาและผ่าตัด อาทิ ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องตามปกติ หรือใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือจะผ่าตัดเลาะเอาซีสต์ออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออก ซึ่งบางกรณีจำเป็นต้องตัดมดลูกออกด้วย วิธีการรักษาเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความจำเป็นที่จะมีบุตรได้อีกในอนาคต





ผ่าตัดผ่านกล้อง ตัวช่วยการกำจัดถุงน้ำรังไข่

การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) คือการเจาะผ่านช่องท้องประมาณ 4 จุด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไป ให้ส่งภาพมายังจอรับภาพ แพทย์จะเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือขนาดเล็กช่วยในการผ่าตัด เช่น เครื่องมือจับเนื้อเยื่อ เครื่องมือจี้ห้ามเลือด เครื่องมือตัดและเย็บ

การผ่าตัดผ่านกล้องยังสามารถเข้าไปถึงจุดเล็กๆ ที่มือแพทย์ไม่สามารถเข้าไปได้ ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เพราะช่วยลดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะข้างเคียง และแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เท่านั้น

 

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง

  • ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน จึงเจ็บน้อย ปวยน้อย และลดการเสียเลือดได้มาก
  • ขนาดของแผลนั้นเล็กเพียง 1-2 ซม. ซึ่งต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดที่จะทำให้มีแผลกว้าง 12-20 ซม. จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความสวยงามของแผล และแผลหายเร็วกว่า
  • พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ซึ่งในบางกรณีอาจจะกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด จึงดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์
  • ช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ นับว่าปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
  • ช่วยลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิด
  • ด้วยเทคโนโลยีกำลังขยายของกล้อง ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างตรงจุด ลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ

 

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง

  • มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ที่มีนวัตกรรมพิเศษ
  • ยังไม่สามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในบางราย ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง และผู้ที่เคยผ่าตัด หรือมีพังผืดในท้องจำนวนมาก

 

วิธีการเตรียมตัวก่อนและหลังผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัด

  • เตรียมร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • แจ้งประวัติประจำตัว การแพ้ยา โดยให้แจ้งแพทย์ทันทีที่เข้ารับการรักษา และแจ้งอีกครั้งเมื่อรู้ว่าจะต้องผ่าตัด
  • งดสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์
  • กรณีผ่าตัดลำไส้ แพทย์จะทำการล้างลำไส้ โดยจะให้ยากระตุ้นการขับถ่ายออกมาให้หมด
  • ไม่สวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู หรือเครื่องประดับจากการเจาะตามร่างกาย หากนำติดตัวมาที่โรงพยาบาลต้องถอดเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย

 

หลังการผ่าตัด

  • งดน้ำ งดอาหาร ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ตามแพทย์สั่ง
  • งดสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Minimal Invasive Surgery นั้น จำเป็นต้องอาศัยแพทย์และทีมงานที่มีความชำนาญพิเศษ โดยทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ มีทีมแพทย์ที่ผ่านการศึกษาอบรมการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จากสถาบันการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ จึงพร้อมดูแลและให้การรักษาแก่ทุกท่านเป็นอย่างดี




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn