-
มะเร็งตับ อันตรายร้ายที่ผู้ชายต้องระวัง!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
10-เม.ย.-2566

มะเร็งตับ อันตรายร้ายที่ผู้ชายต้องระวัง!

“มะเร็งตับ” เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย ซึ่งสาเหตุในการเกิดโรคมะเร็งตับนั้นจะไม่มีความจำเพาะเจาะจง และเซลล์มะเร็งสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าเป็นโรคมะเร็งตับ เพราะส่วนใหญ่ในระยะแรกของโรคจะไม่ค่อยมีอาการแสดงที่เด่นชัด ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจกับโรคมะเร็งตับ เพื่อการรู้เท่าทันและสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ดีขึ้น

 

ก่อนจะเข้าใจมะเร็งตับ ควรรู้จักตับให้ดีก่อน

ตับ เป็นอวัยวะภายในช่องท้องที่ใหญ่ที่สุด อยู่ทางด้านขวาหลังซี่โครงส่วนล่าง โดยตับจะทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น

  • กักเก็บสารอาหาร
  • กรองและทำลายสารเคมีในอาหาร แอลกอฮอล์ และสารเสพติดต่างๆ
  • ขจัดของเสียและเซลล์ที่เสื่อมสภาพออกจากเลือด
  • ผลิตน้ำดี ซึ่งเป็นสารละลายที่ช่วยย่อยไขมันและกำจัดของเสีย
  • ปล่อยกลูโคสให้ร่างกายนำไปใช้

อีกทั้งตับยังสามารถซ่อมแซมตัวเองได้หากได้รับบาดเจ็บได้อีกด้วย

 

ทำความรู้จักกับ “มะเร็งตับ”

มะเร็งตับเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ภายในตับเกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตเกินการควบคุม โดยสามารถแบ่งมะเร็งตับได้เป็น 2 ชนิด คือ

มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ : เป็นมะเร็งที่เกิดจากตับโดยตรง หรือเริ่มจากตับและลามไปยังอวัยอื่นๆ

มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ : เป็นมะเร็งที่เกิดจากโรคมะเร็งชนิดๆ อื่นแพร่กระจายมายังตับ เช่น โรคมะเร็งปอด หรือโรคมะเร็งเต้านมเกิดลุกลามไปที่ตับ เป็นต้น

 


สัญญาณอาการร้ายของมะเร็งตับ

ในระยะแรกของโรคมะเร็งตับ มักไม่มีอาการให้เห็นหรือรู้สึกได้ แต่อาจปรากฏขึ้นเมื่อมะเร็งเติบโตและมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีการแพร่กระจายแล้ว โดยอาจสังเกตได้จากอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้าผิดปกติ
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีภาวะดีซ่าน คือผิวหนังและดวงตามีสีเหลือง
  • คลำได้ก้อนแข็งใต้ซี่โครงด้านขวา
  • มีอาการท้องบวม หรือรู้สึกไม่สบายในช่องท้องส่วนบนทางด้านขวา
  • มีอาการปวดท้อง หรือปวดบริเวณสะบักขวา ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปด้านหลังได้

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจไม่ได้บ่งบอกถึงโรคมะเร็งตับเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากภาวะสุขภาพอื่นๆ ได้ด้วย หากคุณมีอาการเหล่านี้หรือมีความกังวลใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีกว่า

 

ไม่ใช่แค่แอลกอฮอล์...ที่ก่อมะเร็งตับ!

พฤติกรรมหรือปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมีอยู่มากมาย เช่น

  • เพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงราว 2-3 เท่า
  • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน
  • สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไวรัสตับอักเสบซีเป็นเวลานาน
  • เป็นโรคตับแข็งด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น เกิดแผลเป็นในตับ เกิดการอักเสบที่ตับหรือท่อน้ำดีเรื้อรัง ภาวะฮีโมโครมาโตซิส (ภาวะธาตุเหล็กมากเกินความต้องการของร่างกาย) เป็นโรคไขมันพอกตับ หรือโรคเบาหวาน
  • รับประทานอาหารที่มีอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin ; เชื้อราที่เจริญเติบโตได้ในอาหาร)
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งตับ

ทั้งนี้ การมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุทั้งหมดของการเกิดมะเร็งตับ อาจมีเหตุผลอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งตับได้เช่นกัน

 


ลดความเสี่ยง...เลี่ยงมะเร็งตับ

  • ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หากเป็นผู้มีความเสี่ยงหรือเป็นผู้เป็นพาหะ ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบและรับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin)
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตับแข็ง เช่น
  • รักษาโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดตับแข็ง เช่น โรคไขมันพอกตับ หรือภาวะฮีโมโครมาโตซิส
  • ได้รับการตรวจยีนในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งตับ

 

นอกจากการลดความเสี่ยงด้วยการปรับพฤติกรรม ยังควรตรวจคัดกรองสุขภาพตับหรือตรวจหามะเร็งตับทุก 6-12 เดือน เพราะการพบมะเร็งตับในระยะแรกๆ เช่น เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กประมาณ 2-3 ซม. ก็จะเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดีกว่าการพบมะเร็งตับที่เซลล์มีขนาดใหญ่ หรือเป็นในระยะลุกลามแล้ว

และที่สำคัญคือ ควรดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพราะการทำเช่นนี้ไม่ใช่เพียงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับเท่านั้น แต่ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นในทุกๆ ด้านอีกด้วย

บทความโดย

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ






สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn