-
แมลงก้นกระดก...อันตรายที่มาพร้อมกับฤดูฝน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-ก.ย.-2565

แมลงก้นกระดก...อันตรายที่มาพร้อมกับฤดูฝน

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน สิ่งที่ตามมาอาจไม่ได้มีเพียงการระบาดของเชื้อโรคต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีแมลงตัวสีส้มสลับดำที่เรียกกันว่า แมลงก้นกระดก ที่ก็มาพร้อมกับฤดูฝนด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ที่ไม่รู้ถึงความร้ายแรงในพิษของแมลงก้นกระดก มักกำจัดแมลงด้วยวิธีการปัดหรือบี้เหมือนแมลงทั่วไป แล้วมาพบกับอาการแสบคันในภายหลัง วันนี้โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จึงอยากมาแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ แมลงก้นกระดก เพื่อการรู้เท่าทันและป้องกันพิษร้ายจากเจ้าแมลงตัวนี้ได้อย่างถูกต้อง

 


ทำความรู้จักกับ “แมลงก้นกระดก”

แมลงก้นกระดก ด้วงก้นกระดก หรือแมลงเฟรชชี่ หรือในอีกหลายๆ ชื่อ คือแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีลักษณะลำตัวเป็นปล้องๆ โดยมีส่วนหัวกับส่วนหางเป็นสีดำ และส่วนท้องเป็นสีส้ม เมื่ออยู่กับที่จะชอบงอส่วนท้องขึ้นลง ซึ่งแมลงก้นกระดกจะชอบออกมาเล่นแสงสว่างตามบ้านเรือน ที่เป็นเหตุให้ผู้คนที่พบเจออาจบังเอิญสัมผัสแมลงก้นกระดกได้ แมลงชนิดนี้ยังชอบอาศัยอยู่บริเวณโพรงหญ้าที่มีความชื้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรามักพบแมลงเหล่านี้ในช่วงฤดูฝนมากขึ้น

พิษของแมลงก้นกระดก
แมลงก้นกระดกสามารถปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า “พิเดอริน” ที่มีลักษณะเป็นกรดออกมา หากสัมผัสถูกพิษของแมลงก้นกระดกจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่สัมผัสได้


คัน แสบร้อน ผื่นแดง อาการจากพิษของแมลงก้นกระดก

โดยหลังจากการสัมผัสถูกตัวแมลงก้นกระดกแล้ว อาการจะยังไม่ปรากฏขึ้นมาให้เห็น แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 6-12 ชั่วโมง จะเริ่มแสดงอาการแสบร้อนหรือคันเล็กน้อย และบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับแมลงจะเกิดผื่นแดงคันเป็นขอบเขตชัดเจน หรืออาจพบตุ่มน้ำใส หรือเป็นรอยไหม้ เป็นแผลพุพอง โดยลักษณะของรอยจะเป็นทางยาวเนื่องจากเกิดจากการปัดแมลง ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษพิเดอรินที่ได้รับจากการสัมผัสถูกตัวแมลงก้นกระดก ในกรณีผู้ที่แพ้สารพิษนี้อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และหากถูกพิษเข้าบริเวณดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้

 


ทั้งนี้หากเกิดเป็นรอยแดงเล็กๆ รอยจะสามารถหายไปได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 วัน แต่หากเป็นแผลที่ค่อนข้างรุนแรง ผื่นแดงหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายเองได้ใน 7-10 วัน แต่มักจะทิ้งรอยดำไว้ เมื่อผ่านไปซักระยะรอยดำจะค่อยๆ จางหายไป กรณีหากแผลมีการติดเชื้อซ้ำในจุดเดิม อาจทำให้ผื่นหรือแผลหายช้าลง หรืออาจลุกลามจนเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากหายแล้วได้

 

วิธีดูแลตัวเอง....หากสัมผัสถูกแมลงก้นกระดก

หากร่างกายสัมผัสโดนพิษจากแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย จากนั้นทำการประคบเย็นบริเวณที่สัมผัสโดน ไม่ควรสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่ถูกพิษ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือลุกลามเพิ่มได้ หากอาการผื่นหรือแผลพุพองเริ่มมีการอักเสบหรือขยายวงกว้างมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยการรักษาผื่นที่เกิดขึ้น คือการใช้ครีมสเตียรอยด์ทาบริเวณที่เกิดผื่น หากเป็นแผลพุพองจะรักษาโดยการประคบด้วยน้ำเกลือ และสามารถทานยาเพื่อบรรเทาตามอาการที่เกิดขึ้นได้

 

รู้ให้เท่าทัน...ป้องกันให้ถูกวิธี

หากเราพบเจอกับแมลงก้นกระดก หรือมีแมลงมาเกาะอยู่ตามร่างกาย ควรปฏิบัติตามนี้

  1. ไม่ควรจับแมลงมาเล่น
  2. หลีกเลี่ยงการปัด บี้ หรือบีบตัวแมลงก้นกระดก
  3. ควรใช้การเป่าออกไป หรือสะบัดออก โดยไม่สัมผัสโดยตรงกับตัวแมลง
  4. ควรปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด หรือปิดมุ้งลวดเพื่อป้องกันแมลงเข้า
  5. ลดแสงสว่างลงในเวลากลางคืน หรือควรเปิดไฟเท่าที่จำเป็น
  6. ควรตรวจเช็กที่นอน หมอน ผ้าห่ม เครื่องนอนก่อนว่าไม่มีแมลงเกาะอยู่



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn