-
ดูแลสุขภาพจิตให้ดีด้วยวิธีที่ทำได้ทุกวัน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
10-ต.ค.-2567

ดูแลสุขภาพจิตให้ดีด้วยวิธีที่ทำได้ทุกวัน

สุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน หรือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การมีสุขภาพจิตที่ดีช่วยให้เรารับมือกับความเครียดและมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนยังคงมองข้ามความสำคัญของสุขภาพจิต เพราะเชื่อว่าปัญหาทางจิตใจเป็นเรื่องเล็ก และบางครั้งก็หลงเชื่อความเชื่อผิดๆ จนบางครั้งทำให้ไม่กล้าเผชิญปัญหาสุขภาพจิต จนทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังตามมา

 


ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสุขภาพจิต...ที่ควรทำความเข้าใจใหม่

1. "คนที่ดูมีความสุขไม่มีปัญหาสุขภาพจิต"

บางคนอาจดูมีความสุขภายนอก แต่ยังคงเผชิญปัญหาสุขภาพจิตภายใน เช่น ภาวะซึมเศร้าอาจไม่แสดงออกอย่างชัดเจน การดูแลผู้คนรอบข้างและสังเกตสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

2. "สุขภาพจิตไม่สำคัญเท่าสุขภาพกาย"

หลายคนมองว่าสุขภาพกายสำคัญกว่า แต่ในความเป็นจริง สุขภาพจิตมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกาย เมื่อจิตใจมีปัญหา มันสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ปัญหาการนอนหลับ หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง นอกจากนี้สุขภาพจิตยังมีส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพกายให้ดีอีกด้วย

 

3. "คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตคือคนอ่อนแอ"

คนที่มีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นอ่อนแอ แต่เป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมอง การขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่เรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง

 

4. คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นคนบ้า

สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสมดุลทางอารมณ์และความคิด คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เป็น "คนบ้า" เพียงแต่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือในการรับมือกับความรู้สึกและความคิดที่ซับซ้อน

 

5. แค่คิดบวกก็เพียงพอในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต

การคิดบวกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพจิต แต่สำหรับปัญหาสุขภาพจิตที่ซับซ้อน การรักษาด้วยการบำบัด การใช้ยา หรือการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก็มีความสำคัญเช่นกัน

 

6. ปัญหาสุขภาพจิตจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป

ปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถหายไปเองได้โดยอัตโนมัติ การรับการรักษาและการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและมีโอกาสที่ปัญหาจะไม่กลับมาเป็นอีก

 

7. ถ้าเริ่มรู้สึกดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องรักษาต่อ

ถึงแม้จะเริ่มรู้สึกดีขึ้นเมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว ก็ควรดำเนินการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง การหยุดการรักษาก่อนเวลาอาจทำให้ปัญหากลับมาเป็นซ้ำได้

 


วิธีดูแลสุขภาพจิตที่ทำได้ทุกวัน

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหนักหรือเบา เช่น การเดิน การวิ่งเบาๆ หรือโยคะ ก็จะช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุขและลดความเครียด การทำขยับร่างกายเพียง 30 นาทีต่อวัน สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ : การนอนหลับที่ดีมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เนื่องจากการนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้สมองได้พักฟื้นและฟื้นฟูความสามารถในการคิดและแก้ปัญหา การนอนน้อยเกินไปอาจทำให้เกิดความเครียดและส่งผลต่ออารมณ์ การจัดการเวลานอนหลับให้สม่ำเสมอและพอเพียงจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพจิต
  • ฝึกสติและทำสมาธิ : การฝึกสติหรือการทำสมาธิเป็นวิธีที่ช่วยให้จิตใจสงบ ลดความเครียดและลดความกังวลลงได้ โดยการหายใจลึกๆ และการนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้จิตใจมีสมดุลมากขึ้น และจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
  • ให้เวลากับตัวเอง : การหางานอดิเรกทำหรือได้ทำสิ่งที่ชอบ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจได้พักจากความเครียดและสิ่งที่อาจมากระตุ้นให้จิตใจเกิดความวิตกกังวล การอยู่กับตัวเองสามารถช่วยให้จิตใจได้รู้สึกผ่อนคลาย และเสมือนเป็นการเติมพลังให้กับจิตใจ
  • ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง : การเปิดใจยอมรับทั้งความรู้สึกด้านบวกและด้านลบเป็นสิ่งสำคัญ การหลีกเลี่ยงความรู้สึกเชิงลบอาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตสะสมมากขึ้น และอาจทำให้ปัญหาทางจิตใจรุนแรงขึ้นได้ การเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ช่วยให้จิตใจแข็งแรงและพร้อมเผชิญกับปัญหาและแก้ไขปัญหานั้นให้เบาลงได้ดีขึ้น
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดี : การพูดคุยและได้ใช้เวลากับคนที่เข้าใจเรา เช่น เพื่อนสนิทหรือครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างกำลังใจ การใช้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่ดี จะช่วยลดความเครียดและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น
  • ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้จริง : การตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริงในแต่ละวันช่วยสร้างความรู้สึกสำเร็จและเพิ่มความมั่นใจในตนเอง เช่น การออกกำลังกาย 10 นาทีต่อวัน หรือการทำงานให้เสร็จตามแผน จะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกสำเร็จ ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจในตนเอง และไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดลบที่เป็นบ่อเกิดของความวิตกกังวล

 

การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะสุขภาพจิตที่ดีส่งผลให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และอย่าปล่อยให้ความเชื่อผิดๆ ขัดขวางการดูแลสุขภาพจิตของคุณ ควรทำความเข้าใจต่อตนเอง โดยเริ่มต้นดูแลสุขภาพจิตตั้งแต่วันนี้ ด้วย “วิธีดูแลสุขภาพจิตที่ทำได้ทุกวัน” จะช่วยให้สุขภาพจิตของคุณค่อยๆ ดีขึ้น และสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

บทความโดย
นายแพทย์ณัฐวุฒิ สุมาลัย 
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn