อาการปวดคอ...อาการทั่วไปที่หลายคนละเลยจนเป็นเรื้อรัง
อาการปวดคอ เป็นอาการที่พบได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้คนที่มีพฤติกรรมนั่งทำงานอนู่ท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้มีการลุกเคลื่อนไหวร่างกาย และหากปล่อยไว้จนอาการปวดคอเข้าสู่ระยะที่รุนแรง คือ รู้สึกปวดร้าวไปยังอวัยวะต่างๆ อาจเป็นสัญญาณของหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณต้นคอเสื่อมแล้วเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ
- พฤติกรรม อาจเกิดจากพฤติกรรมของกิจวัตรประจำวัน เช่น การนั่งหรือนอนผิดท่า การทำงานที่ต้องก้มหรือเงยเป็นระยะเวลานาน การนั่งขับรถเป็นเวลานาน หรือนั่งเป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้มีการขยับร่างกายยืดเส้นยืดสาย
- ภาวะกระดูกต้นคอเสื่อม เป็นผลจากอายุที่มากขึ้น หรือมีการใช้งานคอที่หนักเกินไป กระดูกคอจึงมีการเสื่อมสภาพลง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้หมอนรองกระดูกแยกออกมากดทับเส้นประสาท ซึ่งสาเหตุนี้มักทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปยังไหล่ แขน หรือมือได้
- เกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณคอ เช่น กระดูกคอหัก หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือเอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อต่อกระดูกคอเกิดการอักเสบ
- เกิดการติดเชื้อ อาจเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น วัณโรคหรือแบคทีเรีย ที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณคออาจกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดคอหรือปวดร้าวไปยังแขน หรือมีอาการอ่อนแรงของแขน ขา ร่วมด้วย
หากมีอาการเหล่านี้...อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกระดูกคอเสื่อม
- อาการปวดคอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยและส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้ว อาการจะทุเลาลงภายในไม่กี่วัน แต่หากพบอาการที่ผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
- มีอาการปวดคอเป็นๆ หายๆ มากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- มีอาการปวดคอ ร่วมกับอาการปวดร้าวบริเวณบ่า หัวไหล่ แขน หรือนิ้วมือ
- มีอาการชาบริเวณแขน หรือนิ้วมือ หรือรู้สึกว่าแขนหรือมืออ่อนแรง
- คอเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บร่วมด้วย
- บางครั้งอาจพบจุดกดเจ็บที่กล้ามเนื้อต้นคอและบ่า
วิธีรักษาอาการปวดคอ
- การรักษาด้วยยา โดยแพทย์จะให้ยาเพื่อบรรเทาตามความรุนแรงของอาการ หรือในบางรายอาจฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อคอเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดคอ
- การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เช่น
- การประคบด้วยความร้อนหรือเย็นบริเวณที่มีอาการปวด
- การใช้เครื่องมือที่ทำให้เกิดความร้อนลึก เช่น Ultrasound หรือ Shortwave Diathermy
- การดึงคอเพื่อลดการกดทับของเส้นประสาทคอ และลดอาการเกร็งของต้นคอ
- การนวดบริหารคออย่างถูกวิธี และเหมาะกับสภาพของอาการที่เป็น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ
- การรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการรากประสาทหรือไขสันหลังถูกกดทับ ใช้ในผู้ที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง โดยแพทย์จะใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
อาการปวดคอป้องกันได้...หากรู้วิธีอย่างถูกต้อง
การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับอาการปวดคอ คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ เช่น
- หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมนานๆ ควรลุกขยับร่างกายเพื่อให้กล้ามเนื้อได้เกิดการใช้งาน
- จัดระเบียบอิริยาบถในการนั่ง ยืน หรือนอนให้เหมาะสมและถูกต้อง เช่น หากจำเป็นต้องนั่งทำงานนานๆ ควรให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา หรือควรใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่พักแขน เป็นต้น
- ควรจัดท่าทางการนอนให้ถูกต้อง โดยหมอนไม่ควรสูงหรือต่ำเกินไป การนอนควรให้คออยู่ในระดับเดียวกับศีรษะ
- ควรหลีกเลี่ยงการแบกของหนักไว้บนหลังและไหล่ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- หมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอ โดยการหมุนคอไปมา แต่ไม่ควรสะบัดคอแรงๆ หรือเร็วเกินไป
หากพบว่าตนเองมีอาการปวดคอ หรือมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะหลายคนมักคิดว่าอาการปวดคอเป็นอาการธรรมดาไม่อันตรายอะไร จึงละเลยและปล่อยไว้ แต่การทำเช่นนี้เป็นการปล่อยให้โรคค่อยๆ เข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น และเมื่อมาพบแพทย์ในภายหลังอาจทำให้โอกาสในการรักษาเป็นไปได้ยากหรือมีทางเลือกในการรักษาน้อยกว่าที่ควรได้
บทความโดย
นายแพทย์อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn