เสริมพัฒนาการความฉลาด 10 ด้าน อย่างไร ให้ลูกรัก
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
04-พ.ย.-2565
เสริมพัฒนาการความฉลาด 10 ด้าน อย่างไร ให้ลูกรัก

         พัฒนาการด้านความฉลาดของลูก สามารถส่งเสริมและสร้างได้ ตั้งแต่ในท้องจนถึงช่วง 3 ขวบปีแรก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลานาทีปีทองที่ต้องใส่ใจดูแลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกรักเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ พร้อมด้วยการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีอารมณ์แจ่มใส สุขภาพจิตดี และมีสติปัญญา

เด็กทำขนม

พัฒนาการความฉลาด 10 ด้าน

1.HQ หรือ Health Quotient ความฉลาดทางสุขภาพ
         ความรู้ความสามารถในดูแลตนเอง ให้ความสำคัญถึงการมีสุขภาพดี ส่งเสริมและแนะนำให้ลูกรู้จักการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการพักผ่อนที่เพียงพอ

2.IQ หรือ Intelligence Quotient : ความฉลาดทางด้านสติปัญญา
         ความสามารถในการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ ดนตรี ศิลปะ และกีฬา สามารถส่งเสริมได้ด้วยการใช้เวลาใกล้ชิด เล่นและ พูดคุยกับลูกบ่อยๆ การใช้ภาษามือควบคู่เวลาสื่อสารกับลูก

3.EQ หรือ Emotional Quotient : ความฉลาดทางอารมณ์
        ความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม และพร้อมรับมือได้เมื่อเผชิญกับภาวะสถานการณ์ต่างๆที่ไม่คุ้นเคย สามารถเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้ลูกได้ด้วยการ ส่งเสริมให้ลูกเล่นใช้จินตนาการ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ตอบสนองความต้องการของลูกอย่างถูกต้อง ไม่ตามใจ ไม่เข้มงวดเกินไป

4.CQ หรือ Creativity Quotient : ความคิดสร้างสรรค์
        การที่ลูกมีความริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการและแนวคิดต่างๆ เช่น การประดิษฐ์ การออกแบบงานศิลปะประเภทต่างๆ สามารถส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการด้านนี้ด้วยการ ละเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ การเล่านิทาน การนำของใกล้ตัวมาทำเป็นของเล่น

5.PQ หรือ Play Quotient : ความฉลาดจากการเล่น
        การที่ลูกมีความฉลาดด้านสติปัญญา อารมณ์ และด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น สามารถการกระตุ้นและส่งเสริม ได้ด้วยการที่พ่อแม่เล่นกับลูกบ่อยๆ

6.AQ หรือ Adversity Quotient : ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา
       เป็นทักษะที่ลูกจะสามารถแก้ไขปัญหา มีความมานะไม่ย่อท้อเมื่อเจอปัญหา มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย สามารถส่งเสริมพัมฒนาการด้านนี้ด้วยการ ฝึกความพยายามให้ลูก เช่น การเล่นต่อเลโก้ จิ้กซอร์ การให้กำลังใจและคำชมเชย

7.TQ หรือ Thinking Quotient : ความฉลาดในการคิด
       คือความสามารถที่ลูกจะคิด วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล ถูกต้อง มีวิจารณาญาณ สิ่งใดมีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถส่งเสริมได้ด้วยการ พาลูกออกไปเที่ยว อ่านหนังสือกับลูก การทำงานบ้าน การฝึกให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตนเอง

8.MQ หรือ Moral Quotient : ความฉลาดด้านคุณธรรม จริยธรรม
       คือความฉลาดที่ลูกรักรู้จักผิดชอบ ประพฤติดี มีความซื่อสัตย์ มีความกตัญญู สามารถส่งเสริมด้วยการอบรมสั่งสอน และเรียนรู้ผ่านพฤติกรรม หรือตัวอย่างที่พ่อแม่ทำ

9.OQ หรือ Optimist Quotient : ความฉลาดด้านการมองโลกในแง่ดี
      การที่ลูกมีสุขภาพจิตดี อารมณ์แจ่มใส มองโลกในแง่ดี มีความคิดเชิงบวก สามารถรับมือกับปัญหา ฝ่าฟันอุปสรรคได้โดยไม่เครียดจนเกินไป ซึ่งสามารถฝึกพัฒนาการด้านนี้ให้ด้วย การฝึกทำงานบ้าน การฝึกการล้างหน้าแปรงฟันเก็บที่นอน ปิดไฟ การถอดเสื้อผ้าลงตะกร้าด้วยตัวเอง และควรชื่นชมลูกทุกครั้ง

10.SQ หรือ Social Quotient : ความฉลาดในการเข้าสังคม
       การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและหลากหลายในปัจจุบันได้ พ่อแม่สามารถฝึกทักษะด้านนี้ให้ลูกด้วยการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ยกตัวอย่างจากนิทานที่อ่านให้ลูกฟัง

เด็กเล่น


กิจกรรมเสริมกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ให้ลูกรัก
ช่วง 3 ขวบปีแรก

      อายุ 0- 3 เดือน ในช่วงวัยนี้แนะนำการเล่นที่กระตุ้นระบบประสาทสัมผัส ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การสัมผัส การดมกลิ่น การรับรส ชอบสีสันที่สดใส สีตัดกัน ชอบมองการเคลื่อนไหว ชอบฟัง พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกทุกกิจกรรม

1.กรุ๊งกริ๊งที่มีเสียง
2.โมบายสีสันที่สดใส
3.หนังสือผ้า หนังสือนิทาน
4.ร้องเพลงกล่อง
5.เล่นปูไต่
6.พ่อแม่ คุยกับลูกบ่อยๆ

     อายุ 4-6 เดือน ในช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มสังเกตมากขึ้น สนใจการเคลื่อนไหวได้ของแขนขาของตัวเอง เริ่มคว้าของใกล้ตัว ชอบดูดนิ้ว อมมือ สำรวจอวัยวะตัวเอง มีความสนใจสิ่งรอบตัว เริ่มรู้จักส่งเสียงโต้ตอบ อืออาในลำคอ

1.เพลงที่มีจังหวะ
2.ยางกัดต่างๆ
3.เพลย์ยิม ตุ๊กตาผ้า
4.เล่นกับพ่อแม่

      อายุ 6-9 เดือน ช่วงวัยนี้ถือเป็นวัยที่ลูกรักจะกระดึ๊บ คืบ คลาน เกาะยืน เริ่มเข้าใจการหายไปของวัตถุที่เคยเห็น การเล่นจ๊ะเอ๋ สำหรับวัยนี้จะสนุกและง่ายที่สุด สนุกกับการที่แม่ประคองให้กระโดดเบาๆ บนตัก ชอบเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี หรือเพลงที่แม่ร้องให้ฟัง ให้เด็กได้โยนของที่โยนได้ เพราะเป็นวัยที่ชอบโยน ชอบขว้างสิ่งของ ทดสอบกล้ามเนื้อตัวเอง

1.ขว้างบอลลงตะกร้า

2.เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นหาของใต้ผ้า
3.เล่นตบแปะ
4.เล่นบัตรคำ
5.อ่านนิทาน

     อายุ 9-12 เดือน ช่วงวัยนี้ลูกพร้อมที่จะเรียนรู้และเริ่มสื่อสาร สั้นๆ ง่ายๆ ได้ แม้ยังพูดได้ไม่เก่ง แต่สามารถเข้าใจคำสั่งง่ายๆของพ่อแม่ได้ กล้ามเนื้อเริ่มมีความแข็งแรง

1.เล่นเลโก้ชิ้นใหญ่ๆ

2.ต่อบล็อกไม้
3.ม้าไม้โยกเยก
4.รถลากจูง
5.อ่านนิทาน
6.ของเล่นพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

       อายุ 1-2 ปี
ในช่วงวัยนี้ลูกเริ่มจะมีความเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง เข้าใจคำสั่ง พูดเก่งขึ้น เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ

1.ต่อบล็อกไม้

2.เล่นทราย
3.วิ่งเล่นในสนาม
4.ทำงานบ้าน
5.อ่านนิทาน
6.ลากเส้นระบายสี
7.เล่นขาไถ (Balance bike)

   อายุ 2-3 ปี ช่วงวัยนี้ลูกจะมีการต่อต้าน งอแง เอาแต่ใจ ช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้ พูดเก่ง อยากรู้ อยากลอง เป็นเจ้าหนูจำไม

1.เล่นทราย

2.ต่อบล็อกไม้ ,เลโก้
3.เล่นบทบาทสมมุติ
4.ปั้นแป้งโดว์
5.ต่อจิ้กซอร์
6.ทำงานบ้าน
7.วิ่งเล่นอย่างอิสระ

เล่นทราย


บทความ
โดย พญ.รวงฤทัย ฉิ้มสังข์
กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเปาโลเกษตร


ตารางแพทย์ออกตรวจ

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5121

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset