เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลหน้าฝน หรือหน้าหนาว ร่างกายจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งหนึ่งในโรคที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการป่วยง่าย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ก็คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ซึ่งโรคนี้มักจะมีอาการคล้าย ๆ กับไข้หวัดธรรมดา แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรวางใจ เพราะอาจอันตรายแก่ชีวิตได้เช่นกัน
ทำความรู้จักกับไวรัส RSV
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งสามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุน้อยกว่า 3 ปี
ไวรัส RSV สามารถติดต่อทางใดได้บ้าง
เชื้อไวรัส RSV สามารถติดต่อโดยตรงกับการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ ได้แก่
✱ น้ำมูก
✱ น้ำลาย
✱ เสมหะ
เมื่อมือเรามีการสัมผัสเชื้อไวรัส RSV จากสารคัดหลั่งที่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แล้วเรานำไปสัมผัสกับตา หรือเข้าจมูกก็สามารถติดเชื้อได้โดยง่าย ซึ่งเชื้อไวรัส RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและอยู่บนมือได้นานกว่าครึ่งชั่วโมง ถ้าหากไม่ได้ล้างทำความสะอาด เมื่อได้รับเชื้อมาแล้วระยะเวลาฟักตัวของโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 4 – 6 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ
การรักษา โรคติดเชื้อไวรัส RSV
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV ได้โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น
✱ การให้ยาลดไข้
✱ การให้ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ เนื่องจากในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก
✱ พ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย
✱ เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
วิธีการป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัส RSV
✱ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยติดเชื้อไวรัส RSV
✱ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด ควรสอนให้เด็ก ๆ ล้างมืออย่างถูกต้อง และรักษาสุขอนามัย
✱ หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่แออัด และไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ ๆ มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
✱ หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในขณะที่มีการติดเชื้อไวรัส RSV ได้
✱ งดออกจากบ้านในช่วงที่ไม่สบายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น ๆ และควรปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอหรือจาม
อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการพักฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เชื้อไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา จนไปถึงอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกน้อยได้ โดยเชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกถ้าหากร่างกายอ่อนแอ
บทความสุขภาพสำหรับเด็ก
➮ โรคไอพีดี (IPD) ในเด็กป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
➮ โรคยอดฮิตในเด็ก ที่มาพร้อมกับฤดูฝน
➮ โรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียในเด็ก ต้อนรับช่วงเปิดเทอม
➮ โรคท้องร่วงในเด็ก DIARRHEA