สร้างสุขภาพดี แข็งแรง ฉลาด สมวัย
การตรวจสุขภาพตามช่วงวัยเด็ก
เพราะเด็กเป็นช่วงวัยของการเจริญเติบโตที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และเป็นคนสำคัญอีกหนึ่งคนสำหรับครอบครัวที่ต้องการได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ
การตรวจสุขภาพเด็กมีความสำคัญไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เพราะหากตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้การดูแลรักษาได้ทันท่วงที และป้องกันโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี ซึ่งจะทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการตามวัยของเด็ก นับเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพดีที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองไม่ควรละเลย เพื่อให้ลูกรักเติบโตอย่างแข็งแรงเหมาะสมตามช่วงวัย
การเปลี่ยนแปลงและสุขภาพของเด็กที่ควรติดตามในแต่ละช่วงวัย
ในแต่ละช่วงวัยหรือช่วงเวลาการเติบโตของเด็กมักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นการติดตามอย่างใกล้ชิดของแต่ละช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อการดูแลสุขภาพเด็กให้สมบูรณ์และเสริมสิ่งที่ขาดอย่างเหมาะสม
➮ วัยทารกแรกเกิด – 7 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่คลอด จะมีการตรวจประเมินภาวะตัวเหลือง เจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจการได้ยิน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่สำคัญอย่างวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีและวัคซีนป้องกันวัณโรค
➮ วัยทารกไม่เกิน 6 เดือน จะมีการติดตามการเจริญเติบโต เสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้ได้รับวัคซีนที่เหมาะสมกับวัย
➮ วัยทารก 6 – 12 เดือน ในช่วงวัยนี้จะเริ่มตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อตรวจฟันผุ สุขภาพเหงือก เพราะต้องปรับตัวในการรับประทานอาหาร รวมถึงตรวจตาเพื่อตรวจคัดกรองประเมินภาวะตาเหล่ ตาเข และความผิดปกติต่าง ๆ ตรวจข้อสะโพก ตรวจอวัยวะเพศ ตรวจความเข้มข้นของเลือดเพื่อประเมินภาวะโลหิตจาง
➮ วัยเด็กตั้งแต่ 1 – 12 ปี ในช่วงวัยนี้จะเน้นการตรวจด้านพัฒนาการเพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการวัดสายตาเพื่อแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง วัดความดันโลหิต วัดระดับความเข้มข้นของเลือด รวมถึงคำแนะนำที่เหมาะสมด้านการเรียน การเล่น การเข้าสังคมเพื่อให้ปรับตัวได้ถูกต้อง
➮ ช่วงวัย 13 – 15 ปี ร่างกายจะแข็งแรงโตเต็มวัย แต่ในช่วงวัยนี้อาจละเลยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตรวจสุขภาพโดยรวม เช่น ตรวจสมรรถภาพตับ ตรวจการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด ซึ่งจะเป็นการตรวจเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม รายการตรวจสุขภาพเด็กขึ้นอยู่กับการพิจารณาโดยทางกุมารแพทย์ ซึ่งอาจจะมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายและความเสี่ยงของเด็กแต่ละคน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกุมารแพทย์เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงสมวัย