ผ่าตัดเต้านม ความกังวลของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
13-ก.ย.-2566
ผ่าตัดเต้านม อาจเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจกังวล เพราะด้วยความกลัวที่ว่าหากเป็นมะเร็งเต้านมต้องตัดเต้านมทิ้งได้วิธีเดียวเท่านั้น และอาจทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจที่ต้องโดนตัดเต้านมทิ้งไป แต่ความจริงการผ่าตัดเต้านมในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธีที่สามารถช่วยเรียกคืนความมั่นใจให้กับคุณผู้หญิงได้ โดยที่ไม่ต้องรู้สึกกลัว หรือเป็นกังวลหากเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม



การรักษามะเร็งเต้านม มีวิธีการแบบใดบ้าง
การรักษาประกอบด้วยการรักษา หลายๆวิธีร่วมกัน การรักษามีความจำเพาะในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะ ชนิด และ สภาวะผู้ป่วย
1. รักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลาย และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยยาจะออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ซึ่งได้แก่เซลล์มะเร็ง รวมถึงเซลล์ที่ปกติถูกทำลาย เช่น เซลส์เม็ดเลือด เกล็ดเลือด เนื้อเยื่อในช่องปาก ลำไส้ และเส้นผม ซึ่งผลข้างเคียงจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว และสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติเมื่อสิ้นสุดการรักษา โดยปัจจุบันจะนิยมให้ยาเคมีหลายชนิดร่วมกัน เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของเซลล์มะเร็ง


2.รักษาด้วยการฉายรังสี เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูง เพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโต และทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเนื้อเยื่อนั้นให้ตาย ซึ่งมักใช้การฉายแสงร่วมกับผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ผู้ป่วยที่มีมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ก้อนเนื้อใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร และผู้ป่วยที่มีมะเร็งลุกลามมาที่ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อหน้าอก เพื่อลดการกลับโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ โดยจะใช้เวลาในการฉายแสงประมาณ 2-6 สัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 5 วัน และพัก 2 วัน เพื่อให้ผิวหนังได้พัก และซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลายไป

3.รักษาด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน เพราะการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมบางชนิดขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในร่างกาย ได้แก่ เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอนโดนเจน ฯลฯ ซึ่งก่อนแพทย์จะให้ยาต้านฮอร์โมน แพทย์จะทำการตรวจก่อนว่า เซลล์มะเร็งเซล์นั้นเป็นชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนหรือไม่ หากผลออกมาเป็นบวก แสดงว่ามะเร็งเต้านมนั้นมีการตอบสนองต่อฮอร์โมน ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับยาต้านฮอร์โมน โดยกินยาวันละ 1 เม็ดเป็นระยะเวลา 5-10 ปี


4.รักษาด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาเพื่อกำจัดชิ้นเนื้อมะเร็งออกจากเต้านม และอาจรวมถึงต่อมน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่อเต้านมที่มีการลุกลามของเชื้อมะเร็งด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะคิดว่าหากเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว จะมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมทิ้งเท่านั้น แต่ความจริงแล้วการผ่าตัดสามารถทำได้หลากหลายวิธี แต่อาจขึ้นอยู่กับระยะของโรค และปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละรายร่วมด้วย ได้แก่
  • ผ่าตัดสงวนเต้า ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือหากมีบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก และสามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านม (Breast Reconstruction) ได้ทันทีโดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง โดยแพทย์จะออกแบบบาดแผล และประเมินปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรง หรือบิดเบี้ยวหลังจากผ่าตัด
  • ผ่าตัดพร้อมเสริมเต้านมเทียม เป็นการผ่าตัดโดยใช้เต้านมเทียม หรือการใส่ซิลิโคนสามารถทำได้หลังการผ่าตัดเต้านมออกหมด เพื่อให้คงรูปทรงของเต้าเดิมไว้ ซึ่งการใส่เต้านมเทียมจะไม่ส่งผลต่อการกลับเป็นซ้ำ หรือการกระตุ้นเซลล์ของมะเร็งเต้านม โดยการใส่เต้านมเทียมหากผิวเต้านมมีไม่เพียงพอต่อการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดนำผิวหนังจากร่างกายส่วนอื่นๆ มาใช้เพิ่มเติมในการผ่าตัดด้วย
  • ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด พร้อมเสริมสร้างเต้านมใหม่ เป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับเต้านมเดิม แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า โดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง ส่วนใหญ่เนื้อเยื่อที่จะใช้ คือ กล้ามเนื้อหรือชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหรือไขมันบริเวณที่หลัง

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ที่ต้องระวัง
  • ข้อไหล่ติด มีสาเหตุมาจากอาการปวดตึงแผล ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวไม่กล้าขยับแขนมาก เพราะอาจจะทำให้แผลฉีกขาดได้ จึงทำให้เกิดพังผืดที่ตัวแผล และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • แขนบวม เกิดจากน้ำเหลืองใต้ผิวหนังไม่สามารถไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ จนทำให้แขนข้างเดียวกับเต้านมที่ผ่าตัดบวมขึ้นมา ซึ่งอาการบวมเกิดได้ตั้งแต่แขน จนลามไปถึงข้อมือได้
  • น้ำเหลือง หรือเลือดคั่งบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งเกิดจากแผลผ่าตัดมีน้ำเหลือง หรือเลือด ไปคั่งสะสมอยู่ จนทำให้แผลบวมคล้ายกับถุงน้ำ ซึ่งอาการบวมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน หรืออาจจะค่อย ๆ บวมขึ้นในช่วง 2-3 เดือนหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถมาเจาะดูดน้ำภายหลังผ่าตัดได้ หรือ หากปริมาณน้อยสามารถหายได้เอง
  • การติดเชื้อ อาจเกิดเพียงตรงบริเวณแผลผ่าตัด หรืออาจรุนแรงไปถึงชั้นไขมัน และกล้ามเนื้อใต้แผล โดยส่วนใหญ่มักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น แผลบวมแดงหรือปริแตกออกมา และในผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำหนองไหลออกมาจากแผลด้วย การติดเชื้อโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก รักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อ เปิดแผลระบายหากมีหนอง

ดังนั้น หากผู้ป่วยรู้สึกกังวลใจ หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้ สามารถปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้ทันที เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล รวมถึงผู้ที่มีความกังวลหรือไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม หรือตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม ก็อาจเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันได้ เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีที่การผ่าตัดเต้านมได้


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์ศัลยกรรม อาคาร 1 ชั้น 1 

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-5144141 ต่อ 1101-1100