ตรวจสุขภาพทางเดินอาหาร ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
04-ก.ย.-2561
เริ่มแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าระบบทางเดินอาหารนั้นไม่ได้มีแค่กระเพาะ แต่รวมตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก-ใหญ่ไปจนถึงทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และตับอ่อน แต่เวลาป่วยขึ้นมากลับมีอาการเริ่มต้นคล้ายกัน คือท้องอืด เฟ้อ เสีย หรือผูก ซึ่งยากที่จะสันนิษฐานเองว่าเกิดจากปัญหาตรงไหน ดังนั้นเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง เราควรพบแพทย์เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

ทำใจให้สบาย…ไม่ต้องกลัวคุณหมอ

หลายๆคนไม่กล้ามาพบคุณหมอ เพราะกลัวโดนจับส่องกล้อง แต่จริงๆแล้วแพทย์จะสอบถามอาการเพื่อวินิจฉัยโรค และรักษาเบื้องต้นก่อน เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มว่ามีปัญหาเรื้อรัง จึงค่อยใช้วิธีส่องกล้องเข้าช่วย เพื่อหาต้นตอว่าป่วยตรงไหน และวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง ตรงจุด

“ส่องกล้อง” ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะ…

- ใช้เวลาส่องแค่ 15 – 20 นาที
- กล้องที่ใช้ส่องมีขนาดเล็กเท่าปลายหัวนิ้วก้อยเท่านั้นเอง
- มียาระงับความรู้สึกเพื่อให้คนไข้ผ่อนคลาย ไม่รู้สึกเจ็บ
- มีความปลอดภัยสูง โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก
- สามารถรักษาติ่งเนื้อ หรือตัดชื้นเนื้อมาตรวจได้ทันที โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

ผิดปกติตรงไหน…ก็ส่องตรงนั้น

การส่องกล้องแบ่งได้ 3 แบบตามจุดที่เข้าไปตรวจ

1. การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น
สำหรับตรวจ: หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น
เมื่อเกิดอาการ:ปวดท้อง กลืนลำบาก เลือดออกในช่องท้อง แผลในกระเพาะอาหาร และเนื้องอก
วิธีตรวจ: แพทย์จะฉีดยาให้ลำไส้คลายตัว แล้วจะพลิกผู้ป่วยให้นอนตะแคงซ้าย ก่อนจะใส่กล้องเข้าทางช่องปาก
การเตรียมตัว:งดอาหารและน้ำ 6-8 ชม.

2. การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย

สำหรับตรวจ:ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้นและลำไส้เล็กส่วนปลาย
เมื่อเกิดอาการ:มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย หรือปวดท้องร่วมกับมีก้อนในท้อง รวมถึงน้ำหนักลด อ่อนเพลีย และมีอาการโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีตรวจ: แพทย์จะให้ยาช่วยให้หลับ ก่อนส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนักหลังตรวจ ผู้ป่วยต้องนอนพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการ
การเตรียมตัว:ทานยาระบายเพื่อถ่านท้องให้ลำไส้ใหญ่สะอาด และงดอาหารและน้ำ 8-10 ชม.

3. การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

สำหรับตรวจ:ท่อทางเดินน้ำดี และตับอ่อน
เมื่อเกิดอาการ: ภาวะดีซ่านนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี เนื้องอกท่อทางเดินน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดี หรือตับอ่อนอุดตัน หรือตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อทางเดิน

วิธีตรวจ:แพทย์จะใส่กล้องเข้าทางช่องปาก จนไปถึงท่อเปิดของน้ำดี จากนั้นจึงฉีดสารทึบแสง และถ่ายภาพเอกซเรย์
การเตรียมตัวก่อนตรวจ:งดยาละลายลิ่มเลือดอย่างน้อย 7 วัน และงดอาหารและน้ำ 6-8 ชม.

ข้อมูลจาก ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
สอบถามเพิ่มเติมโทร.02-514-4141 ต่อ 1210