“มะเร็ง” เรื่องที่ต้องดูแลทั้งกายและใจ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
03-ก.ย.-2561
สุขภาพที่มีปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ใครปรารถนา และยิ่งเป็นโรคที่มองว่าน่ากลัวอย่าง “มะเร็ง” ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เข้ามาในชีวิต แต่คงไม่มีใครที่สามารถกำหนดหรือป้องกันไม่ให้โรคเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ดีที่สุด คือการดูแลรักษาตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และอยู่ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับ นายแพทย์สิริพงษ์ โสภิตภักดีพงษ์ แพทย์อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร ประจำโรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 ที่จะแนะนำคนไข้ทุกคนที่เป็นโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร และเข้ารับการรักษากับคุณหมอเสมอว่า เมื่อพบเจอโรคสิ่งที่ต้องทำคือ การเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ความสำคัญกับระยะของโรค เพราะไม่ว่าจะอยู่ขั้นใดก็ต้องเข้ารับการรักษา ถึงแม้เหตุผลของการรักษาจะแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

โรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่พบได้ในอันดับต้นๆ ของการเกิดมะเร็งทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ที่พบ 2 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและมะเร็งลำไส่ใหญ่ หากจะพูดถึงมะเร็งตับ สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค คือ ไวรัสตับอักเสบ บี และในผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ที่มาจากไวรัสและการดื่มสุราปริมาณมากเป็นเวลานาน เมื่อพบแล้ว การผ่าตัดย่อมเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และจะได้ผลดีที่สุดสามารถหวังผลหายขาดได้ถ้าอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยส่วนใหญ่ด้วยการตรวจวินิจฉัยที่จะทราบได้จากการตรวจเบื้องต้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับไม่มีอาการ คนไข้ที่มาจึงมักเป็นระยะลุกลาม อาการที่พบบ่อย เช่น ปวดแน่นท้องใต้ชายโครงขวา เกิดจากก้อนใหญ่ขึ้น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ตัว ตาเหลือง ท้องใหญ่ ขาบวม จากการที่ตับเริ่มทำงานน้อยลง การรักษาโรคมะเร็งตับนั้นทำได้โดยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด ฉีดเคมีบำบัดเข้าไปในก้อนตับ

มะเร็งระบบทางเดินอาหารที่พบมากอีกชนิด คือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกเป็นหลัก เช่น พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่รับประทานอาหารซึ่งมีกากใยน้อย ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งในต่างประเทศอุบัติการณ์การเกิดสูงกว่าในประเทศไทย และต่างประเทศยังได้มีการระบุให้ผู้ที่อายุเกิน 50 ปีต้องเข้ารับการตรวจทุกคน แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้ระบุให้เป็นข้อกำหนดที่ต้องตรวจ แต่แพทย์จะแนะนำให้กับผู้ที่มีความผิดปกติ และมีความเสี่ยง อาทิ ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย น้ำหนักลด ซีด แต่ถ้าผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยง แพทย์จะแนะนำเป็นรายบุคคล

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ 2 วิธี หลักๆ

1.การตรวจอุจจาระหาเม็ดเลือดแดง 3 วันติดต่อกัน 
2.ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ข้อดีของการส่องกล้องตรวจ คือหากตรวจพบความผิดปกติมีติ่งเนื้อสามารถผ่าตัดได้ทันที เพราะติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่อาจนำพาไปสู่การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยมะเร็งลำไส้เป็นเช่นมะเร็งชนิดอื่นๆ คือไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก ไม่มีสัญญาณเตือนของโรค ดังนั้น ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่จะค่อนข้างเป็นมากแล้ว อาการที่พบได้แก่ ขับถ่ายผิดปกติ ท้องเสียสลับท้องผูก ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือดจากก้อนมะเร็งที่ส่งผลให้เกิดแผลในลำไส้ใหญ่ ซีด น้ำหนักลด ถ้าหากตรวจพบความผิดปกติ การรักษาในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดเป็นการรักษาที่ดีที่สุด สามารถหายขาดได้ กรณีมีการลุกลามของโรคต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และการรักษาร่วมอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การรักษาผู้ป่วยมะเร็งในแต่ละรายหมอจะพูดคุยกับคนไข้ก่อนการรักษา โดยอธิบายให้เข้าใจถึงปัจจัยของร่างกายกับโรคให้ข้อมูลโรคอย่างละเอียด แนะนำถึงขั้นตอนการรักษาว่าจะทำอย่างไร คนไข้เป็นมะเร็งในระยะใด การรักษาคนไข้มะเร็ง เราจะรักษาแบบบูรณาการ ให้การดูแล ให้คำแนะนำต่างๆ โดยแพทย์แต่ละสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคของคนไข้ อาทิ แพทย์ด้านเคมีบำบัด ศัลยแพทย์ เป็นต้น และนอกจากการแนะนำการรักษา การพูดคุยด้านจิตใจของทั้งคนไข้และญาติก็เป็นสิ่งที่หมอให้ความใส่ใจ ด้วยการพูดคุยให้กำลังใจ และอธิบายถึงประโยชน์ของการรักษาว่าจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีอย่างไรเหตุผลที่หมอให้ความสำคัญกับญาติไม่ต่างจากคนไข้ เพราะคนไข้มาพบหมอในแต่ละครั้งใช้เวลาร่วมกันไม่นาน แต่กับญาติจะอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา ดังนั้นการที่หมอ ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ญาติ เพื่อกลับไปสื่อสาร ให้กำลังใจ ดูแลคนไข้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และหากตรวจวินิจฉัยและพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ การรักษาในระยะแรกจะให้ผลที่ดี หรือสามารถหายขาดได้ แต่ถึงแม้จะถ้าเป็นในระยะลุกลามก็สามารถรักษาได้ และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะหากไม่รับการรักษาจะทุกข์ทรมานจากอาการต่างๆ ของโรค และผลแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมา ในการรักษาทุกครั้งหมอจะให้กำลังใจคนไข้เสมอ เพื่อให้ทุกคนมั่นใจที่จะดูแลตนเอง รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าเราจะอยู่เคียงข้างไปด้วยกัน”

เลือกเพราะต้องการทำให้ดีที่สุด

สิ่งที่ทำให้เลือกมาเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เนื่องจากช่วงที่เป็นอายุรแพทย์ทั่วไป ได้ตรวจวินิจฉัย และรักษาโดยการใช้ยา แต่เมื่อได้มีโอกาสได้ดูแลคนไข้ระบบทางเดินอาหารและตับ ซึ่งขณะนั้นยังไม่สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องได้ ทำได้เพียงตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นและบางรายหากมีความสงสัยว่าคนไข้อาจจะเป็นมะเร็งตับ หรือมะเร็งลำไส้ ก็ไม่สามารถสรุปได้ด้วยตนเอง ต้องส่งต่อให้แพทย์ท่านอื่นส่องกล้องตรวจยืนยันสาเหตุอีกครั้ง จึงเรียกได้ว่าได้ดูแลคนไข้ในภาพกว้าง แต่ไม่ได้ลงลึกในด้านใดด้านหนึ่ง “เรียกว่ายังไม่ใช่การรักษาได้แบบสุดทาง” ดังนั้น เมื่อเลือกเป็นแพทย์เฉพาะทาง จึงเลือกเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพราะโดยส่วนตัวชอบการส่องกล้อง เมื่อเป็นแพทย์ทางด้านนี้จึงได้มีโอกาสตรวจส่องกล้อง ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาภายในได้ด้วยตาของเราเองที่มองผ่านเลนส์ และทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรค และสรุปผลพร้อมรักษาให้กับคนไข้ได้ในคราวเดียวกัน