ไม่เกี่ยวว่าอ้วนหรือผอม! แค่ไขมันในเลือดสูง...ก็เสี่ยงโรคหัวใจได้
โรงพยาบาลเปาโล
09-เม.ย.-2567

แม้ว่า “ความอ้วน” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย แต่ในผู้ที่มีรูปร่างดีหรือที่ใครเรียกว่า “คนผอม” นั้น ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโรคร้ายแอบซ่อนอยู่ และด้วยเหตุผลที่ว่าไขมันในเลือดสูงนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่มีรูปร่างอ้วนและผอม จึงเท่ากับว่า... ไม่ว่าคุณจะอ้วนหรือผอมก็เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ หากปล่อยให้ระดับไขมันในเลือดสูงเกินไป!!


ไม่จำเป็นต้องอ้วน! คนผอมก็เสี่ยง “ไขมันในเลือดสูง” ได้นะ

พอ “อ้วน” ใครๆ ก็คิดว่าเสี่ยงโรคนั้นโรคนี้ โดยเฉพาะ “ไขมันในเลือดสูง” ในขณะที่คนรูปร่างผอมมักคิดว่าตัวเองสุขภาพดีไม่มีทางจะเสี่ยงไขมันในเลือดสูงแบบคนอ้วนได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด! เพราะ “ไขมันในเลือด” เป็นส่วนของไขมันที่ละลายอยู่ในกระแสเลือด ต่างกับ “ไขมันที่สะสมใต้ผิวหนัง” เพราะฉะนั้น คนอ้วนอาจจะไม่ได้มีภาวะไขมันในเลือดสูงเสมอไป และคนผอมเอง...ก็ไม่ได้แปลว่าจะรอดพ้นจากความเสี่ยงนี้


ไขมันในเลือดสูง...เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

  • พันธุกรรม พ่อหรือแม่ หรือคนในครอบครัวมีประวัติไขมันในเลือดสูง
  • มีโรคบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคตับ หรือโรคเบาหวาน
  • ชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด ของมัน เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมเค้ก ทำให้น้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
  • ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มในปริมาณมากเป็นประจำ รวมถึงการสูบบุหรี่จัด
  • ไม่ชอบออกกำลังกาย ใช้ชีวิตประจำวันแบบเนือยนิ่ง ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย


ทำไม? ไขมันในเลือดสูง...ถึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”

เพราะคำว่าไขมันในเลือดสูง อาจเกิดจากระดับคอเลสเตอรอลหรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงกว่าปกติ หรืออาจเกิดจากไขมันทั้ง 2 ชนิด ซึ่งไขมันเหล่านี้จะเข้าไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบและมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลอดเลือดแดงก็จะเกิดการตีบหรืออุดตัน เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ที่ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวาย รวมถึง Stroke ซึ่งเป็นภาวะเฉียบพลัน... ที่อันตรายถึงชีวิต!


ตรวจเช็กระดับไขมัน...เพื่อค้นหา “ไขมันในเลือดสูง” ยังไงบ้าง?

ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าคนไข้มีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น แพทย์จะทำการตรวจระดับคอเลสเตอรอล (Total cholesterol, TC) ร่วมกับระดับของไขมันชนิดอื่นๆ อย่าง LDL (Low Density Lipoprotein), HDL (High Density Lipoprotein) และ TG (Triglyceride) ซึ่งระดับไขมันชนิดต่างๆ ควรอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้...

  • TC หรือคอเลสเตอรอล ควรน้อยกว่า 200 mg/dl
  • LDL หรือไขมันชนิดไม่ดี ควรน้อยกว่า 130 mg/dl ซึ่งมีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลในปริมาณสูง
  • HDL หรือไขมันชนิดดี ควรมากกว่าหรือเท่ากับ 40 mg/dl เพราะเป็นไขมันที่ช่วยขนส่งคอเลสเตอรอลจากเซลล์ต่างๆ ไปทำลายที่ตับ
  • TG หรือไตรกลีเซอไรด์ ควรน้อยกว่า 150 mg/dl ซึ่งถ้ายิ่งมีมาก...ยิ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว


ไขมันในเลือดสูง เป็นภัยเงียบที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อเช็กระดับไขมัน ค้นหาความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูง จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราทราบว่า เราควรปรับพฤติกรรมหรือถึงเวลาที่ต้องรักษาด้วยการทานยาในเบื้องต้นแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงในอนาคตได้