ตรวจสุขภาพผู้สูงวัย ได้อะไรกว่าที่คิด
โรงพยาบาลเปาโล
30-พ.ย.-2565

ผู้สูงวัยคือใคร?

จริงๆ แล้วมีหลายเกณฑ์หลายมาตรฐานที่กำหนดอายุของ “ผู้สูงวัย” ซึ่งก็แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคนรักสุขภาพ ถ้ามองในมุมของการตรวจสุขภาพประจำปี เมื่อใครก็ตามที่กำลังก้าวเข้าสู่วัย “50 ปีขึ้นไปก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพรอบด้านแบบที่ “ผู้สูงวัย” ควรได้รับ ซึ่งจะเป็นการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้นตามความเสี่ยงของอายุ และความเสื่อมของร่างกายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

 

ผู้สูงวัยควรตรวจอะไรบ้าง?

เริ่มจาก... แพทย์จะทำการซักปะวัติ และประเมินจากการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงตรวจการได้ยิน การมองเห็น แล้วประเมินเรื่องความจำ และภาวะทางอารมณ์ เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

 

นอกจากนี้ยังจะมีการตรวจภาวะกระดูกว่ายังแข็งแรงหรืออ่อนบางลงมากน้อยเพียงใด มีความพรุนหรือไม่ ดูการเดิน การทรงตัวว่ามีแนวโน้มการเป็นโรคข้อเสื่อมหรือไม่ หรือเสี่ยงต่อการหกล้มง่ายหรือไม่ เพราะในทางการแพทย์พบว่าราว 50% ของผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี จะมีภาวะกระดูกเสื่อม ผุ กร่อน บางลง ทำให้กระดูกหักง่ายและต่อติดได้ยาก

 

ยิ่งกว่านั้น ยังควรได้รับการตรวจสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะต่างๆ อย่างละเอียด โดยมุ่งไปที่การประเมินความเสี่ยงโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ปอด ตับ (มะเร็งตับ) ไต (ไตวาย) สมอง (สมองเสื่อม) ช่องท้อง สำไส้ (มะเร็ง) โดยการตรวจอุจจาระเพื่อดูว่ามีเลือดปนออกมาหรือไม่ และตรวจทางทวารหนักด้วย

 

หากมีแนวโน้มหรือพบข้อสงสัย แพทย์ก็จะแนะนำให้ตรวจส่องกล้องทางทวารหนัก โดยจะใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กโค้งงอได้ สอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง และส่วนต้น รวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย เพื่อตรวจดูว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ แผล หรือสิ่งที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็งสำไส้ในอนาคตหรือไม่

 

สำหรับในผู้ชายสิ่งที่ควรตรวจเพิ่มเติมคือ ความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในผู้หญิงคือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ( Mammogram) ตรวจภายในนรีเวชและมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง

 

โรคหลอดเลือดตีบ ตัน โรคสำคัญที่พบบ่อยในผู้สูงวัย

โรคหลอดเลือดตีบ ตัน ในผู้สูงอายุ หรือแม่แต่คนอายุน้อยๆ ส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเข้าขั้นวิกฤติ ดังนั้นถ้าจะรอให้โรคแสดงอาการก็หมายความว่าเส้นเลือดต่างๆ เริ่มตีบมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งก็สร้างความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบก็สร้างความเสี่ยงโรคเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ซึ่งนำไปสู่ภาวะการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ผู้สูงอายุจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยง หากพบว่าเริ่มมีไขมันในหลอดเลือดสูง มีน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องได้รับยาในเบื้องต้น ร่วมกับการปรับพฤติกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว หากดูแลและปรับพฤติกรรมได้ดี ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

 

วิเคราะห์ไลฟ์สไตล์... เพื่อปรับเปลี่ยนสู่สุขภาพที่ดีกว่า

นอกจากการตรวจเลือด การเอกซเรย์ หรือการประเมินด้วยเครื่องมือแพทย์ต่างๆ แล้ว การวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัยก็มีความจำเป็น เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม อาหารแปรรูป รสจัด การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน ความเครียด การขับขี่ยานพาหนะ หรือแม้แต่การกินยารักษาโรคประจำตัว การใช้ฮอร์โมน รวมไปถึงความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจขาดเลือด โรคเก๊าต์ โรคไทรอยด์ และโรคมะเร็งบางชนิด การประเมินสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การดูแลสุขภาพโดยรวมกลับมาดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม

 

การตรวจสุขภาพประจำปีของผู้สูงวัย

ไม่ได้เหมาะกับแค่คนรักสุขภาพเท่านั้น แต่ถือว่ามีความจำเป็นและควรใส่ใจ เพราะการได้รู้ว่าอวัยวะภายในของเราเสื่อมไปแค่ไหน ยังทำงานได้ 100% อยู่หรือไม่ มีส่วนใดควรระวัง ควรได้รับการรักษาหรือดูแลเป็นพิเศษ ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น ความเสี่ยงเป็นโรคร้ายก็ลดน้อยลง หรือแม้หากพบโรคที่รักษายาก การพบเร็วก็มีโอกาสในการรักษาหายที่มากกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าการรักษาเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว เราทุกคนจึงควรใส่ใจ โดยกำหนดช่วงเวลาในการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี