สัญญาณบอก โรคต่อมไทรอยด์
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
12-ก.ค.-2566

เช็กลิสต์ สัญญาณบอก โรคต่อมไทรอยด์

โรคต่อมไทรอยด์ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์  นอกจากก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ในไทรอยด์แล้ว ภาวะไทรอยด์ทำงานสร้างฮอร์โมนผิดปกติเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งอาการจะเป็นตามภาวะที่สร้างฮอร์โมนมามากหรือขาดฮอร์โมน ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ในที่นี้คือ Triodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) ซึ่งช่วยในเรื่องกระบวนการเผาผลาญและเมตาบอริซึ่มรวมถึงการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและสมอง อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบางประการที่อาจทำให้ค่าเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การรับประทานยาบางชนิด การตั้งครรภ์ เป็นต้น

โดยอาการของโรคไทรอยด์ในแต่ละรายจะมีอาการแสดงออกได้หลายรูปแบบ
ในการตรวจรักษาแพทย์จะซักประวัติอาการ
ตรวจร่างกายโดยคลำลักษณะต่อมไทรอยด์บริเวณคอด้านหน้าว่ามีขนาดไทรอยด์โต มีก้อนโตในเนื้อไทรอยด์ ลักษณะก้อน เช่น แข็งหรือขรุขระหรือนุ่มเรียบ หรือมีการคลำได้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตร่วมด้วยหรือไม่
และทำการตรวจร่างกายระบบต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางรังสีโดยการทำอัลตราซาวด์ไทรอยด์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการเอกซเรย์ปิดหัวใจดูร่วม การส่งตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมน Triodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) และ Thyroid stimulating hormone (TSH) ซึ่งหลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pituitary gland) ทำหน้าที่กระตุ้นไทรอยด์ให้หลั่ง T3 และ T4 อีกที 
ซึ่งการตรวจเลือดดังกล่าวช่วยในการวินิจฉัยโรคไทรอยด์ทำงานมาก (Hyperthyroid) หรือน้อย (Hypothyroid) ได้ดังรูป


เช็กลิสต์ ที่เราสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัย

1. เหนื่อยง่าย ใจสั่น  นอนไม่หลับ เหงื่อแตกง่าย ขี้ร้อน น้ำหนักลด อาจเกิดจากผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติ (Hyperthyroidism) หรือเป็นพิษ (Thyrotoxicosis )จะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของระบบหัวใจทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น อาการอ่อนเพลีย ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย นอนไม่หลับ ทั้งที่ปกติเป็นคนที่นอนหลับได้สนิทมาตลอด กินได้เยอะ น้ำหนักลดจากกระบวนการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อยขึ้น ทานได้มากขึ้นเนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ไทรอยด์ฮอร์โมนที่มีมากจะกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง จึงส่งผลให้มารบกวนการนอนได้


ทั้งนี้ต้องแยกโรคที่อาจมีอาการดังกล่าวข้างต้นบางอย่างแต่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคไทรอยด์เป็นพิษหรือทำงานมาก
เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคทางระบบต่อมไร้ท่อบางอย่างเช่น เบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคเนื้องอกรังไข่ (Struma ovarii) โรคที่เกิดจากพยาธิสภาพของระบบประสาท หรือ อาจเป็นโรคทางสภาพจิตใจ เช่น กลุ่มอาการโรคแพนิค (Panic disorder)

2. น้ำหนักขึ้นทั้งที่กินลดลง ท้องผูก ผมร่วง อ่อนเพลีย ขี้หนาว ไม่สดชื่น รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา รวมไปถึงมีความคิด ความอ่านที่ช้าลง เฉื่อยชา ขาดสมาธิ อาจเกิดจากระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายลดลง ทั้งนี้ควรมาทำการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์เพื่อวิเคราะห์แยกโรคอื่นๆที่อาจมีอาการดังกล่าวร่วม เช่น โรคโลหิตจางขาดธาตุเหล็ก โรคซึมเศร้า โรคที่มีพยาธิสภาพที่สองโดยตรง เช่น Alzheimer dementia 


3. ตาโปน (exopthalmos) หนึ่งในอาการทางตาของผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ คือ ซึ่งเป็นผลจากที่กล้ามเนื้อหลังลูกตาและไขมันในเบ้าตาบวมใหญ่ จนดันให้ลูกตาโปนยื่นออกมาด้านหน้าของเบ้าตา โดยเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเมื่อปล่อยทิ้งไว้ก็จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน หรือบางรายอาจมีภาพซ้อน ความสามารถในการกรอกตาผิดปกติและเกิดอาการตาเขและภาพซ้อนตามมาได้

ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ตรวจเช็กให้ชัวร์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางอาการสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้


🔹บทความสุขภาพ🔹
➮ โรคของต่อมไทรอยด์
➮ เทคนิค การรักษาโรคไทรอยด์
➮ ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ บริเวณฝ่ามือ (HYPERHIDROSIS)
➮ การผ่าตัดไทรอยด์ ไร้แผล ผ่านกล้องทางช่องปาก



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset