PM 2.5 ฝุ่นละอองร้ายในอากาศ
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-เม.ย.-2566

       ปัจจุบันอากาศในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงตามเมืองสำคัญต่าง ๆ เต็มไปด้วยฝุ่นมลพิษมากขึ้น ซึ่งค่ามลภาวะทางอากาศของประเทศสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก

ฝุ่น PM 2.5 คือ

PM 2.5 ย่อมาจาก Particulate Matters 2.5 หมายถึง ฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) ซึ่งด้วยขนาดอนุภาคที่เล็กมาก ๆ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้ามีปริมาณสูงมาก ก็จะดูคล้ายหมอกหรือควัน

สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก การเผาไหม้ (Combustion particles) จากที่ต่าง ๆ เช่น

◉ ท่อไอเสียรถยนต์ หรือเครื่องยนต์
◉ ควันบุหรี่ ควันธูป
◉ การเผาขยะ เผาป่า เผาหญ้า
◉ การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน หรือ เชื้อเพลิงในครัวเรือน

ด้วยขนาดที่เล็กมาก ๆ ของฝุ่น PM 2.5 ทำให้สามารถลอดผ่านกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ( ได้แก่ ผิวหนัง ขนจมูก เยื่อเมือกในหลอดลม รวมไปถึงเซลล์ที่ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมในถุงลม ) เข้าสู่ถุงลมปอดและซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้


ผลเสียต่อร่างกาย

ภายนอกร่างกาย 
ผิวหนัง

1. เกิดผิวหนังอักเสบ ระคายเคืองผิว ผื่นแดงคัน
2. ซึมผ่านเข้ารูขุมขน เกิดผิวหน้ามันขึ้น และ ทำให้เกิดการอัดตันของรูขุมขน เกิดสิว
3. ฝุ่นที่ซึมผ่านเข้าสู่ชั้นผิวหนัง จะเกิดการอักเสบและกระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระที่ทำลายผิว ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร และจุดด่างดำ

 

ภายในร่างกาย

ระบบการหายใจ – เกิดการอักเสบที่เยื่อบุทางเดินหายใจ ตั้งแต่โพรงจมูกจนถึงปลายสุดของถุงลม ทำให้ผู้ที่โรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบการหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หรือ โรคหอบหืด จะเกิดการกำเริบของโรคได้ง่ายขึ้น และรุนแรงมากขึ้น คือ ภูมิแพ้กำเริบ (แสบจมูก แสบตา มีน้ำมูก คัดจมูก) หลอดลมอักเสบ (ไอ) หรือโรคหอบหืด หรือโรคถุงลมโป่งพองกำเริบ (ไอ หอบเหนื่อย และ หายใจลำบาก มีเสียงหายใจดังจากหลอดลมตีบ) ส่วนผู้ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวดังกล่าวเดิม สามารถแสดงอาการเช่นเดียวกันได้  หากได้รับฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานาน พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดได้สูงขึ้น รวมถึงสามารถเข้าไปทำลายในปอดของเด็กให้แย่ได้ง่ายกว่าปกติ

ระบบหลอดเลือด - ฝุ่น PM2.5 ที่เข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้เกิดการอักเสบของผนังเส้นเลือด ในระยะยาวส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายจากเส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์อัมพาตจากเส้นเลือดในสมองตีบ

การป้องกันตัวจาก PM2.5

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่มีการดึง PM2.5 ออกจากร่างกายได้ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้มลพิษร้ายเข้าสู่ร่างกายจึงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ดังนี้

การดูแล ป้องกันตนเอง
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศ
- สวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่นหน้ากาก N95 เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน
- ควรทำความสะอาดผิว / ล้างหน้าให้สะอาดทันที หลังจากที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นมลพิษ
- สวมเสื้อแขนยาว เพื่อปกป้องผิวไม่ให้ระคายเคืองของผิว
- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรงขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผลไม้หรือวิตามินที่สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี ดื่มน้ำสะอาดเพื่อช่วยในการขับสารพิษจากร่างกาย

        สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษหรือฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นได้หรือไม่แน่ใจการป้องกันตนได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงหากพบว่ามีอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที


🔹บทความสุขภาพ🔹
➮ การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด LOW-DOSE CHEST CT SCAN 
➮ มะเร็งปอด ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
➮ เช็กความเสี่ยง โรคมะเร็งตับ
➮  โรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน 



คลินิกอายุรกรรม
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset