การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
Low-Dose Chest CT Scan
โรคมะเร็งปอด พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด โดยโรคมะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2563 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประชากรโลก
อาการเริ่มต้น ของมะเร็งปอด?
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ เมื่อมีอาการ หรือพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์ปอดซึ่งอาจจะช้าเกินไปที่จะทำการรักษา ในขณะที่มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีแนวทางการตรวจคัดกรองในผู้ใหญ่ เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที
โรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ และไม่มีข้อบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณของโรคนี้ แต่เมื่อโรคลุกลามขึ้น อาจพบอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี๊ด เจ็บบริเวณหน้าอก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาการข้างต้นอาจจะไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดได้ เนื่องจากมีหลายโรคที่มีอาการเกี่ยวข้องกับอาการเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจน
ปัจจัยของเกิดมะเร็งปอด มีตัวอย่างดังนี้
- การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
- มลภาวะทางอากาศ
- การสัมผัสสารก่อมะเร็ง โดยการหายใจ หรือ บริโภค
- บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง (กรรมพันธุ์)
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
Low-Dose Chest CT Scan
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose CT scan) ได้เป็นภาพวินิจฉัย 3 มิติ ซึ่งมีความแม่นยำกว่า การตรวจ X-ray ทรวงอก แบบธรรมดา และยังปลอดภัย เพราะใช้ปริมาณรังสีที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ CT Scan ปกติ
จากการวิจัยของ National Lung Screening Trial (NLST) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อตรวจคัดกรองในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงและมีอายุมากกว่า 50 ปี ด้วย Low-dose CT scan สามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งปอดได้ 15-20% เมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองด้วย X-ray ทรวงอกแบบธรรมดา
ใครบ้าง? ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอด Low-dose CT Scan
- ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และสูบบุหรี่จัด
- ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วแต่ หยุดสูบบุหรี่มาน้อยกว่า 15 ปี
- คนในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่
- ผู้ทำงานใกล้ชิดสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง
- สมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
วิธีการเตรียมตัวและการตรวจ
- ไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร เพราะไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
- นอนบนเตียงตรวจในเครื่อง CT scan ในท่านอนหงาย ชูแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ
- กลั้นหายใจระหว่างการตรวจประมาณ 15-20 วินาที
- การตรวจใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 5-10 นาที บนเครื่อง CT scan เท่านั้น