"Est VS Echo" ตรวจสุขภาพหัวใจแบบไหนที่เหมาะกับคุณ
โรงพยาบาลเปาโล
31-ต.ค.-2567

หลายคนเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกมักไม่ได้ไปพบแพทย์โดยทันที พอนึกขึ้นได้และมาตรวจภายหลัง แพทย์จึงสังเกตอาการได้ยาก เพราะอยู่ในช่วงอาการสงบ อีกทั้ง “โรคหัวใจ” เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มักไม่แสดงอาการชัดเจน ดังนั้นการตรวจหาความผิดปกติของสุขภาพหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ อย่าง การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography : ECHO) และการตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะเดินสายพาน (Exercise Stress Test : EST) จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยค้นหาความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี



หัวข้อที่น่าสนใจ

  • อาการแบบไหน เสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือด?

  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ECHO  คืออะไร? 

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ECHO เหมาะกับใคร และมีประโยชน์อย่างไร?

  • ขั้นตอนการตรวจหัวใจ ECHO ที่ปลอดภัย...ไร้กังวล

  • เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย ตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST เห็นปัญหาชัด

  • มั่นใจในความปลอดภัยขณะตรวจสุขภาพหัวใจ


อาการแบบไหน เสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือด? 

ถึงแม้ว่าการเป็นโรคหัวใจจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นมากนัก แต่ก็สามารถสังเกตได้จากอาการต่างๆ เหล่านี้

  • เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจเข้าได้ลำบาก

  • เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย อย่างที่ไม่เคยเหนื่อยแบบนี้มาก่อน

  • รู้สึกเจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก

  • มีอาการหน้ามืด มีอาการวูบ ไม่รู้สึกตัวแบบกะทันหัน

ดังนั้น หากใครมีอาการดังกล่าวก็ไม่ควรละเลยที่จะพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะหากวินิจฉัยและพบโรคได้เร็ว ก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ เราทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองและคนในครอบครัว หากมีอาการต้องสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทำการตรวจ ประเมินความเสี่ยง และวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด

 

ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ECHO  คืออะไร? 

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) หรือ ECHO คือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยเข้าไปยังบริเวณทรวงอก เพื่อรับเสียงที่สะท้อนออกมา ข้อมูลที่สะท้อนกลับมานั้นจะถูกนำไปแปลเป็นภาพ ซึ่งแพทย์จะเห็นบนจอภาพ โดยแสดงให้เห็นถึง รูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ การตรวจแบบนี้ปลอดภัยและไม่เจ็บ สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร

 

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ECHO เหมาะกับใคร และมีประโยชน์อย่างไร?

การตรวจ ECHO เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหอบ เหนื่อย บวม ซึ่งสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจ โดยแพทย์จะนำผลการตรวจ ไปวินิจฉัยร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้เพื่อการวินิจฉัยโรคทางหัวใจที่แน่นอน ซึ่งมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ และตำแหน่งหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ

 

ขั้นตอนการตรวจหัวใจ ECHO ที่ปลอดภัย...ไร้กังวล

เจ้าหน้าที่จะให้เปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ สำหรับผู้หญิงจะต้องไม่สวมเสื้อชั้นในขณะตรวจ ในการตรวจ...เจ้าหน้าที่จะทำการติดอุปกรณ์ไว้บริเวณทรวงอกเพื่อเฝ้าสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-45 นาที หรือมักไม่เกิน 1 ชั่วโมง สามารถตรวจซ้ำได้บ่อยตามดุลพินิจของแพทย์ อาจตรวจในวันเดียวได้หลายๆ ครั้งโดยไม่ส่งผลข้างเคียงใดๆ เพราะมีความปลอดภัยสูง แต่ในกรณีที่คนไข้มีการรับประทานยาอยู่เป็นประจำ ก็จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบล่วงหน้า เนื่องจากอาจมีผลต่อผลการตรวจและการทำงานของหัวใจ


เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย ตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST เห็นปัญหาชัด

การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติได้ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกายได้ดี หากผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอขณะที่ออกกำลังกาย ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บ จุกแน่นอกและอาจเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้การตรวจจะอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์จึงไว้ใจได้ว่ามีความปลอดภัย

 

มั่นใจในความปลอดภัยขณะตรวจสุขภาพหัวใจ

หลังจากที่ซักประวัติของผู้เข้ารับการทดสอบ โดยเน้นที่อาการปัจจุบัน และประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว ขณะทำการทดสอบทั้งแพทย์และพยาบาลจะเฝ้าดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอก สามารถแจ้งแพทย์และพยาบาลได้ทันที และในระหว่างออกกำลังกาย เครื่องจะวัดความดันโลหิต ชีพจรและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และถูกบันทึกเป็นระยะทุกๆ 3 นาที ขึ้นอยู่กับแผนการทดสอบนั้นๆ ซึ่งพยาบาลจะสอบถามอาการเจ็บหน้าอก อาการเหนื่อย เมื่อยล้า ใจสั่น เวียนศีรษะในระหว่างทดสอบ เพื่อให้ทราบภาวะของเลือดไปเลี้ยงที่สมองว่าผิดปกติหรือส่งผลต่อโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก แพทย์จะสังเกตจากคลื่นไฟฟ้าว่ามีอัตราความเร็วของชีพจรและความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ภายใต้การควบคุมในระดับที่ปลอดภัย หากพบความผิดปกติจะหยุดการทดสอบ ทำการประเมิน แยกโรค และกำหนดแนวทางการรักษาต่อไป

 

เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานตลอดเวลา การดูแลรักษาหัวใจให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากพบความผิดปกติจึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายจากโรคได้ทุกเมื่อ