ระวัง ! ฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง?
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
08-ต.ค.-2567

เมื่อฝนตกหนักจนน้ำท่วมขัง หลายคนอาจไม่ทราบว่าสถานการณ์แบบนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ นอกจากความไม่สบายจากความเปียกชื้นแล้ว ยังมีโรคที่แฝงตัวในสภาพแวดล้อมที่ชื้น แฉะเหล่านี้ด้วย มาดูกันว่ามีโรคอะไรบ้างที่ควรระวัง

1. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

เช่น ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่ (Common Cold, Influenza) โรคเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่กระจายในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้นหรืออุณหภูมิลดลง ทำให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี
อาการ ไข้สูง  ไอ  น้ำมูกไหล  เจ็บคอ  คัดจมูก  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว
การป้องกัน
 ดูแลร่างกายให้อบอุ่น  
 ดื่มน้ำให้เพียงพอ  
 เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกทันที  
 ล้างมือบ่อย ๆ  
 ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม
 หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ


2. โรคระบบทางเดินอาหาร

เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค บิด (Diarrhea, Food Poisoning, Cholera, Dysentery) โรคนี้เกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในช่วงน้ำท่วม จากการขนส่งอาหารและน้ำสะอาด
อาการ ถ่ายเหลว  ปวดท้อง  คลื่นไส้  อาเจียน  ไข้  ในบางกรณีอาจเกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง
การป้องกัน
 ทานอาหารปรุงสุกใหม่ที่สะอาด 
 ดื่มน้ำที่ผ่านการกรองหรือต้ม 
 ล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ

น้ำท่วมขัง


3. โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปัสสาวะของสัตว์ โดยเฉพาะหนู เมื่อสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนอาจทำให้ติดเชื้อได้
อาการ ไข้สูง  ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและต้นขา  ตาแดง  ตัวเหลือง  ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะไตวายหรือตับวาย
การป้องกัน
 หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือโคลน
 ล้างเท้าหรือส่วนที่สัมผัสน้ำสกปรกด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที


4. โรคน้ำกัดเท้า (Athlete's Foot)

สภาพแวดล้อมที่ชื้นแฉะจากการเดินลุยน้ำท่วมนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อราในผิวหนัง
อาการ เท้าเปื่อย  คัน  ผิวหนังลอก  ผื่นพุพอง  หากไม่รักษาอาจเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น
การป้องกัน
 สวมรองเท้าบูทหรือรองเท้าที่เหมาะสมเมื่อเดินลุยน้ำ
 ล้างเท้าและเช็ดให้แห้งทันทีหลังจากสัมผัสน้ำสกปรก
 ทาแป้งหรือครีมกันเชื้อราในบริเวณที่มีความชื้นบ่อย


5. โรคตาแดง (Conjunctivitis)

โรคตาแดงสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสน้ำสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เช่น การล้างหน้าด้วยน้ำที่ไม่สะอาดหรือสัมผัสกับมือที่ไม่สะอาด
อาการ ตาแดง  ระคายเคือง  น้ำตาไหล  หนังตาบวม  อาจมีหนองหรือขี้ตา
การป้องกัน
 ล้างตาด้วยน้ำสะอาด 
 หลีกเลี่ยงการขยี้ตาด้วยมือที่ไม่สะอาด 
 แยกตัวจากผู้ที่เป็นโรคตาแดง
 หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน

ไข้เลือดออก


6. ไข้เดงกีและไข้เลือดออก (Dengue Fever)

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกีซึ่งแพร่เชื้อโดยยุงลายที่เจริญเติบโตในน้ำขัง ยุงชนิดนี้จะกัดในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในที่ร่มและอับชื้น เช่น ใต้โต๊ะ ใต้เตียง
อาการ ไข้สูง  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว  เลือดออกตามไรฟันหรือผิวหนัง  ในบางกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะช็อก
การป้องกัน 
 ปิดหน้าต่างและประตูให้มิดชิด โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน
 ติดตั้งมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงเข้ามาในบ้าน
 ทายากันยุงหรือสเปรย์กันยุงในบริเวณที่ยุงชุกชุม
 กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ  เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือภาชนะที่มีน้ำขังทุกสัปดาห์
 ใช้ยากันยุงหรือเครื่องดักยุงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
 ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง



7. อุบัติเหตุและสัตว์มีพิษกัดต่อย (Accidents and Venomous Bites)

น้ำท่วมขังไม่เพียงแต่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคเท่านั้น ยังเป็นแหล่งที่สัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ และแมงป่องหนีน้ำมาหลบซ่อนในบ้านหรือบริเวณที่อยู่อาศัย
อาการ หากถูกกัดหรือต่อยอาจเกิดอาการปวด บวม หรือในบางกรณีรุนแรงอาจเกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน
การป้องกัน
 ตรวจสอบและทำความสะอาดบริเวณบ้าน
 ถอดปลั๊กไฟและสับคัตเอาต์ก่อนที่น้ำจะท่วมถึง
 หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในบริเวณน้ำท่วมขัง


โดยสรุป ฝนตกหนักและน้ำท่วมขังอาจนำพาโรคและอุบัติเหตุที่เราไม่ควรมองข้าม การดูแลสุขภาพในช่วงน้ำท่วมและรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเตรียมตัวและป้องกันอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


นพ. ศุภวิชญ์ สมิทธิเศรษฐ์

📂บทความสุขภาพ📂
📖โรคฝีดาษวานร (Mpox)
📖โรคปอดอักเสบ
📖ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ป้องกันได้อย่างไร
📖สุขภาพที่ดีเริ่มต้นจากการป้องกัน ด้วยการฉีดวัคซีน





สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset