ฝากครรภ์ ต้องเริ่มเมื่ออายุครรภ์กี่สัปดาห์
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
14-มิ.ย.-2566

เมื่อรู้ว่า “ตั้งครรภ์” คุณแม่อาจรู้สึกตื่นเต้นกับโมเมนต์ความเป็นแม่ ซึ่งคุณแม่หลายคนอาจเป็นคุณแม่มือใหม่ หรือยังไม่มีประสบการณ์ในการฝากครรภ์ครั้งแรก เลยทำให้คุณแม่อาจตั้งคำถามต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะการฝากครรภ์ ว่าควรเริ่มฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์กี่สัปดาห์ถึงจะดีต่อลูกในครรภ์ แต่จริงๆแล้วควรเริ่มฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ หรือไม่ควรมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เพราะการฝากครรภ์จะเป็นการตรวจติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ และป้องกันภาวะเสี่ยงต่างๆที่อาจขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์


จุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์

ช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ก็คือ การที่ไข่ผสมกับสเปิร์ม และสร้างเป็นตัวอ่อน หลังจากการปฏิสนธิแล้ว 5-7 วัน ซึ่งจะนับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยไข่ที่ผสมกันแล้วจะเคลื่อนไปตามท่อนำไข่ ซึ่งในขณะที่ไข่เคลื่อนตัวมานั้น เซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นประมาณ 100 เซลล์ โดยไข่ที่มีการปฏิสนธิแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็จะฝังตัวที่มดลูก ซึ่งแพทย์จะถือว่าการปฏิสนธิครั้งนี้สมบรูณ์แล้ว


ตั้งครรภ์เดือนที่ 2 เริ่มมีพัฒนาการ และหัวใจเริ่มเต้นแล้ว

เมื่อตัวอ่อนฝังตัวที่มดลูกแล้ว ทารกในครรภ์จะเริ่มมีพัฒนาการต่างๆได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งทารกจะมีรูปร่างกลมๆ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร คุณแม่สามารถเห็นอัวยวะต่างๆ และพัฒนาการของลูกในครรภ์ได้ด้วยการอัลตร้าซาวด์ ซึ่งอย่างแรกที่คุณแม่จะเริ่มสัมผัสได้ก็คือ การเต้นของหัวใจ ต่อมาก็จะเป็น แขน ขา ใบหน้า และดวงตา อีกทั้งสามารถฟังอัตราการเต้นของหัวใจลูกในครรภ์ได้อีกด้วย


ตั้งครรภ์เดือนที่ 3 สมองเริ่มพัฒนา

ช่วงอายุครรภ์นี้จะเป็นช่วงที่อวัยวะเริ่มครบสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ทารกในครรภ์ยังไม่สามารถลืมตาได้ ซึ่งสมองและกล้ามเนื้อก็จะเริ่มทำงานประสานกัน สามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปมาได้ หรือเล็บเริ่มงอกยาวขึ้น อีกทั้ง ทารกในช่วงอายุครรภ์นี้จะเริ่มดูดนิ้วหรืออาจกลืนน้ำคร่ำ และลอยตัวในน้ำคร่ำ ซึ่งน้ำคร่ำจะมีหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องทารกขณะอยู่ในครรภ์ไว้เป็นอย่างดี


ตั้งครรภ์เดือนที่ 4 ผู้หญิงหรือผู้ชายกันนะ

เป็นช่วงที่อวัยวะภายนอกที่สามารถบ่งบอกเพศเริ่มชัดเจนมากขึ้น ทำให้คุณแม่สามารถรู้ได้แล้วว่าเป็นลูกผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งคุณแม่จะสามารถมองเห็นได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ อีกทั้ง เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์จะเริ่มมีการเตะ ถีบ หมุนตัวไปมา ผมหรือขนเริ่มงอกทั่วร่างกาย และมีจำนวนเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น


ตั้งครรภ์เดือนที่ 5 เริ่มรับรู้ผ่านการสัมผัส

เป็นช่วงที่ทารกสามารถสัมผัสกับแสงจ้าได้ แต่ไม่สามารถลืมตาได้ และสามารถเริ่มสัมผัสรับรู้กับสิ่งเร้าต่างๆ ภายนอกครรภ์ได้ ทั้งรสชาติ กลิ่น เสียง โดยคุณแม่จะสัมผัสการตอบสนองของลูกได้จากการเอามือลูบหน้าท้อง ขณะที่พูดคุยหรือทำกิจกรรมต่างๆกับลูกนั่นเอง


ตั้งครรภ์เดือนที่ 6 เริ่มตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น

เป็นช่วงที่ทารกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ และสามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกครรภ์ได้ ซึ่งในช่วงอายุครรภ์นี้คุณแม่ควรหากิจกรรมต่างๆที่กระตุ้นพัฒนาการที่ดีให้กับลูกในครรภ์ เพื่อให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยอาจจะเป็นเลือกกิจกรรมที่คุณแม่รู้สึกชื่นชอบ เช่น ร้องเพลง เปิดเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้คุณแม่ควรทำเป็นประจำทุกวัน


ตั้งครรภ์เดือนที่ 7 เจ้าตัวน้อยแม่ ลืมตาได้แล้ว

เป็นช่วงที่ทารกจะมีพัฒนาการที่สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น เช่น ขยับนิ้ว กำมือ เริ่มลืมตาได้แล้ว ขนาดตัวโตเต็มที่ สามารถจดจำ หรือแยกแยะเสียงของคุณแม่ได้ และอวัยวะเพศก็จะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ โดยทารกเพศหญิงจะมีการพัฒนาช่องคลอดขึ้นมา ส่วนทารกเพศชายจะมีการพัฒนาลูกอัณฑะ อีกทั้ง คุณแม่สามารถส่องไฟเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้


ตั้งครรภ์เดือนที่ 8 เตรียมคลอด จะได้เจอกันแล้ว

พัฒนาการของทารกในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ ถือว่าเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของการตั้งครรภ์แล้ว หรือเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่กำลังเตรียมตัวต้อนรับกับวันสำคัญที่กำลังจะมาถึงแล้ว และเป็นช่วงที่ทารกจะมีพัฒนาการที่เติบโตเต็มที่ ไม่ว่าจะ กระดูกที่แข็งแรงขึ้น ผิวจะเจริญเหมือนคนปกติ สมองพัฒนาเต็มที่ เส้นประสาททำงานได้ เต็มที่สมองของทารกจะมีการพัฒนามากขึ้นและเริ่มมีการสร้างคลื่นสมองของทารกแรกเกิดแล้ว 


ตั้งครรภ์เดือนที่ 9 ได้เจอกันแล้ว

ในช่วงเดือนสุดท้ายนี้ คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เนื่องจากขนาดตัวของลูกเริ่มใหญ่ขึ้น และเริ่มกลับตัวหันศีรษะไปทางปากมดลูก ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บท้องเตือน เพราะมดลูกเริ่มบีบตัวเตรียมที่จะคลอดแล้ว ซึ่งก่อนที่จะคลอดแพทย์จะมีการตรวจติดตามประเมินอาการของคุณแม่ เพื่อเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ ระหว่างคลอดธรรมชาติกับผ่าคลอด โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์เป็นอันดับแรก

 

อีกทั้ง หลังจากฝากครรภ์ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และการตอบโต้ของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพราะในแต่ละวันพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่อาจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้พัฒนาการของลูกในครรภ์ก็อาจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งการฝากครรภ์ในแต่ละครั้งแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพในแต่ละช่วงอายุครรภ์ เพื่อให้คุณแม่และลูกในครรภ์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และคลอดออกมาอย่างปลอดภัย



บทความสำหรับคุณเเม่ คลิก
เเพ็กเกจฝากครรภ์ คลิก




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line id : @Paolochokchai4