เป็นริดสีดวงทวาร...จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
27-ก.ค.-2565

เป็นริดสีดวงทวาร...จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?
ริดสีดวงทวาร
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อนี้อยู่บ่อยครั้ง และหลายคนก็อาจกำลังประสบปัญหานี้อยู่ แต่ไม่กล้าที่จะเข้ารับการรักษา แต่จริงๆ แล้วมันมีวิธีการรักษาให้หายได้ด้วยยาหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และไม่ใช่ทุกแบบจะต้องผ่าตัด

แนวทางการจัดการกับ “ริดสีดวงทวาร”

หากพูดถึงการรักษาริดสีดวงทวาร จำเป็นที่จะต้องตรวจเพื่อวินิจฉัยอาการที่เป็นและกำหนดระยะความรุนแรงของริดสีดวงก่อน

  1. ระยะที่ใช้นิ้วดันกลับ ลักษณะนี้อาจไม่ต้องผ่าตัดริดสีดวง โดยการรักษาจะทำเพียงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ยาระบายช่วยเพียงเท่านั้น
  1. ระยะที่ใช้นิ้วดันกลับหรือนิ้วดันไม่กลับ ลักษณะนี้จะหนักขึ้นมาหน่อย โดยระยะนี้อาจจำเป็นที่จะต้องรักษาโดยใช้วิธีการผ่าตัดริดสีดวง


 


การผ่าตัด “ริดสีดวงทวาร”

การเข้ารับการผ่าตัดริดสีดวงทวารจะมีการระงับปวดที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันคือ การบล็อคหลัง ซึ่งการเข้ารับการผ่าตัดริดสีดวงทวารจะขึ้นอยู่กับลักษณะของริดสีดวง โดยการผ่าตัดริดสีดวงทวารที่นิยมมีอยู่ 4 รูปแบบ คือ

1. การผ่าตัดแบบตัดทิ้งไปเลย ลักษณะนี้จะเย็บแผลหรือไม่เย็บแผลก็ได้ขึ้นอยู่กับชนิดอุปกรณ์ที่เลือกใช้ หากเป็นแบบไม่เย็บแผล ความตึงและปวดก็จะน้อยกว่า

2. การผ่าตัดแบบใช้เครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ ลักษณะนี้จะเหมือนกับริดสีดวงชนิดที่เป็นภายใน โดยการผ่าตัดในรูปแบบนี้จะสามารถป้องกันอาการทวารตีบได้ดี

3. การผ่าตัดแบบเย็บผูกเส้นเลือด การผ่าตัดลักษณะนี้นิยมรักษาในริดสีดวงที่มีเลือดออก และเห็นผลดีในแบบที่มีก้อนยื่นออกมาด้านนอก

4. การผ่าตัดแบบเลเซอร์ การผ่าตัดลักษณะนี้แผลจะเล็ก นิยมทำในริดสีดวงระยะแรกๆ และหัวไม่ใหญ่มากนัก


ริดสีดวงทวารหากปล่อยไว้...อันตรายกว่าที่คิด

หากตรวจพบว่าตัวเองอาจเป็นริดสีดวงควรที่จะเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้แรงร้ายไปกว่าเดิม เพราะถ้าเป็นริดสีดวงชนิดที่ต้องผ่าตัดมักจะมีปัญหาของมัน ถ้าเราไม่ผ่าตัด และปล่อยไว้นานไปอาจมีปัญหาที่ตามมาได้ เช่น มีเลือดออก ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานเข้าก็จะส่งผลให้เกิดภาวะซีด มีโลหิตจางได้ มีอาการเหนื่อยเพลีย หรือถึงขั้นทำให้เกิดการอักเสบ เน่า และมีเนื้อตายได้ ซึ่งหากเป็นลักษณะดังกล่าวนี้ก็ควรที่จะไปพบแพทย์ทันที



3 พฤติกรรม ปรับเปลี่ยนให้ห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวาร

  1. การปรับเรื่องอาหารการกิน เลือกอาหารที่มีกากใยสูง อย่างเช่น กล้วย ส้ม มะละกอ กีวี่ และลูกพรุน โดยลูกพรุนมีพรีไบโอติกส์ ซึ่งเป็นสารที่จะช่วยปรับสมดุลลำไส้ได้อีกด้วย
  2. การปรับเรื่องการขับถ่าย การขับถ่ายควรขับถ่ายเมื่อรู้สึกอยากถ่ายเท่านั้น ไม่ควรนั่งถ่ายนานๆ เพื่อเบ่งให้มันออกมา
  3. ดื่มน้ำเยอะๆ ควรบริโภคน้ำดื่มปริมาณ 1.5 - 2 ลิตร ต่อวันถึงจะเพียงพอ

 


ไม่ต้องเขินอายในการเข้ารับการรักษา

ในการตรวจหาริดสีดวง หากคนที่เป็นโรคริดสีดวงทวารรู้สึกเขินอายไม่กล้าเข้ารับการรักษา คนไข้สามารถพูดคุยกับแพทย์ก่อนได้ และทางแพทย์จะให้ความเป็นส่วนตัวโดยการตรวจในที่ปิดมิดชิด และหันหน้าเข้ากำแพง เพื่อลดความกังวล และเขินอายได้

 

ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่สับสนกับโรคอื่นได้ค่อนข้างบ่อย ในบางครั้งเมื่อตรวจพบอาจไม่ใช่ริดสีดวงก็ได้ เช่น อาจเป็นเนื้องอกหรือฝี โดยการพบว่าเป็นฝีก็พบได้บ่อย ซึ่งการรักษาก็จะไม่เหมือนกับริดสีดวง ริดสีดวงทวารหากมารักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็จะสามารถหายขาดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด และถ้าปรับพฤติกรรมได้ ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเป็นได้

 

บทความโดย

แพทย์หญิงศศพินทุ์ วงษ์โกวิท

แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ

 


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn