รู้ไหม? โรคพิษสุนัขบ้า...ป้องกันได้นะ
โรคพิษสุนัขบ้าหลายคนอาจคิดว่าไม่ร้ายแรงหรือติดเชื้อได้ยาก ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงส่วนหนึ่งมาพบแพทย์ช้าไป วันนี้โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จึงขอนำข้อมูลที่ถูกต้องมาฝาก เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจและรู้เท่าทันโรคพิษสุนัขบ้ากันมากขึ้น
ทำความเข้าใจใน “โรคพิษสุนัขบ้า”
"โรคพิษสุนัขบ้า" หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคกลัวน้ำ" เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งพบได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด โดยส่วนใหญ่แล้วหลังจากการได้รับเชื้อราว 10 วัน หรือเร็วกว่านั้น ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการ แต่ก็มีหลายรายที่อาจมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 6 เดือนหรือเป็นปี ทั้งนี้ หากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยมักเสียชีวิตทุกราย ยกเว้นในกรณีที่ได้รับวัคซีนและทำการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยเร็วก่อนเชื้อลุกลาม
พิษสุนัขบ้า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
ไวรัสพิษสุนัขบ้าสามารถส่งผ่านทางน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อเข้าสู่บาดแผลที่ถูกสัตว์กัด หรือข่วน หรือเพียงแค่สัตว์ที่ติดเชื้อมาเลียบาดแผลบนร่างกายของคนก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ และแม้แต่น้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อก็อาจผ่านเข้าทางตา จมูก และปากของคนได้ แม้บริเวณนั้นจะไม่มีบาดแผลก็ตาม
พิษสุนัขบ้า...ไม่ได้มาจากสุนัขเท่านั้น!
เนื่องจากชื่อของโรคมีชื่อเรียกว่า ‘พิษสุนัขบ้า’ หลายคนจึงคิดว่าโรคนี้เกิดจากสุนัขเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว โรคนี้สามารถติดต่อได้จากสัตว์เลือดอุ่นหลายชนิด เช่น แมว ลิง หนู ค้างคาว กระรอก วัว ควาย เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่พบว่าผู้เสียชีวิตมักติดเชื้อมาจากสุนัขมากที่สุด รองลงมาคือติดจากแมว
หากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า...จะมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่มแรก : ผู้ป่วยแต่ละรายจะเริ่มมีอาการซึ่งแตกต่างกันได้ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ คลุ้มคลั่ง กระวนกระวาย หรือมีอาการคันบริเวณที่ถูกกัด ในบางรายอาจมีอาการเจ็บเสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่มร่วมด้วย
ระยะที่มีอาการทางประสาท : หลังจากเริ่มมีอาการข้างต้นแล้ว จะเข้าสู่ระยะที่มีอาการทางประสาท คือ เริ่มอยู่ไม่นิ่ง มีอาการกลืนลำบากโดยเฉพาะของเหลว เช่น น้ำ เนื่องจากมีอาการเกร็งหดตัวบริเวณกล้ามเนื้อลำคอ จนทำให้เกิดอาการกลัวน้ำ เริ่มหงุดหงิด ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้นมากขึ้น ทำให้มีอาการตกใจและสะดุ้งผวาง่าย
ระยะสุดท้าย : ในระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แขนขาอ่อนแรงจนเป็นอัมพาต หมดสติ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด
ควรปฏิบัติอย่างไร? หากถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียแผล
โรคพิษสุนัขบ้า รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้!
เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อเกิดการติดเชื้อและไม่ได้รับวัคซีนป้องกันอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องคุณจากเชื้อพิษสุนัขบ้า โดยควรปฏิบัติดังนี้
หากโดนสุนัขหรือสัตว์ที่ไม่มั่นใจว่ามีเชื้อกัด ควรรีบมาพบแพทย์ จะได้ทำการตรวจวินิจฉัย และรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้โรคนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
บทความโดย
นายแพทย์สุรินทร์ ดิกิจ
แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146