ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดท้องแบบนี้หายได้แน่นอน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
12-มิ.ย.-2566

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดท้องแบบนี้หายได้แน่นอน

โรคนิ่วในถุงน้ำดี ถือเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา โรคนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบได้บ่อยขึ้น

ข้อสังเกตของโรคนี้คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าอาการปวดท้องที่เป็นนั้น เกิดจากโรคกระเพาะอาหาร จึงมักทำให้ไปซื้อยามารับประทานเอง จนกระทั่งมีอาการรุนแรงจึงไปพบแพทย์ ดังนั้นการรู้ทันโรคนิ่วในถุงน้ำดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

 

ความสำคัญของ “ถุงน้ำดี”

ถุงน้ำดี หรือ Gallbladder เป็นอวัยวะภายในช่องท้องที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดี เพื่อให้น้ำดีเข้มข้นพร้อมสำหรับการย่อยไขมัน

 


โรค “นิ่วในถุงน้ำดี” คืออะไร?

นิ่วในถุงน้ำดี หรือ Gall Stone ถือเป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุเกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี จึงทำให้เกิดก้อนนิ่ว ซึ่งลักษณะของนิ่วมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

  1. นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) อาจมีสีเหลือง ขาว หรือเขียว โดยเกิดจากการตกตะกอนไขมัน จากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี
  2. นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) อาจมีสีคล้ำดำ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเลือด โรคโลหิตจาง หรือตับแข็ง
  3. นิ่วโคลน (Mixed Gallstones) มีลักษณะคล้ายโคลน เหนียว หนืด โดยเกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ท่อน้ำดี หรือตับอ่อน

 

อาการแบบไหน บอกโรค “นิ่วในถุงน้ำดี”

เนื่องจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีระยะแรก มักไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือปวดใดๆ เลย ต่อเมื่อโรคลุกลามจึงมีอาการบางอย่าง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ดังนี้

  • แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังทานอาหารไขมันสูง มักเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง
  • ท้องอืด
  • ปวดร้าวที่ไหล่ หลังขวา
  • ปวดใต้ลิ้นปี่ ชายโครงด้านขวา
  • มีไข้หนาวสั่น
  • คลื่นไส้อาเจียน จากภาวะถุงน้ำดีติดเชื้อ
  • และเมื่อมีก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี จะทำให้เกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้
  • ปัสสาวะสีเข้มขึ้น
  • อุจจาระสีขาว
  • ดีซ่าน ตัวเหลือง ตา

ทั้งนี้ ตัวก้อนนิ่วที่ตกตะกอนในถุงน้ำดีนั้น อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย หรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ โดยมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนไปจนถึงหลายร้อยก้อน ซึ่งหากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้

 


กลุ่มเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดีที่ต้องพึงระวัง

  • ผู้สูงวัยทั้งหญิงและชาย ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • เพศหญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกินมาก
  • ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
  • ผู้ที่มีโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีโรคเลือด โลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • ผู้ที่กินยาคุมกำเนิด
  • ผู้ที่กินฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่อดอาหาร (ถือศีลอด) หรือน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ผู้ที่ทานยาลดไขมันในเลือดบางชนิด
  • ผู้ที่มีพันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี

 

การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

นอกจากการซักประวัติอาการ จะต้องทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดของก้อนนิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีได้ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจของแพทย์ในการวางแผนการรักษาหรือผ่าตัด

 


รักษาไม่ยาก...หากผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง

การรักษาผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยการผ่าตัดเพื่อนำนิ่วและถุงน้ำดีออก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการผ่าตัดแต่เดิมจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ที่ต้องมีการพักฟื้นหลังผ่าตัดค่อนข้างนานหลายวัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ แต่ในปัจจุบันมีนวัตกรรมที่เรียกว่า “การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)”

โดยเริ่มแรก แพทย์จะทำการเจาะรูและสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องท้อง เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนผ่านจอมอนิเตอร์ จากนั้นแพทย์จะทำการเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ ก่อนนำออกจากร่างกายโดยผ่านรูที่เจาะไว้บริเวณสะดือ แพทย์จะใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล ซึ่งหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะทำการเย็บปิดแผลที่ผิวหน้าท้องให้เรียบร้อย โดยจะเป็นเพียงแผลเล็กๆ เท่านั้น

วิธีการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยการส่องกล้อง นอกจากจะช่วยให้แพทย์มองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแล้ว ยังช่วยลดรอยแผลจากขนาดใหญ่ให้เหลือเพียงเล็กนิดเดียว ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ย่นระยะเวลาการพักฟื้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน ทำให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว

 

ข้อดีของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง

  • ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ลดการเสียเลือด เมื่อแผลเล็กความเจ็บปวดก็น้อยมาก
  • ขนาดของแผลนั้นเล็กเพียง 1-2 ซม. ซึ่งต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดที่จะทำให้มีแผลกว้าง 12-20 ซม.
  • พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ซึ่งในบางกรณีอาจจะกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด จึงดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์
  • ช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ นับว่าปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
  • ช่วยลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิด
  • ด้วยเทคโนโลยีกำลังขยายของกล้อง ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างตรงจุด ลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ

 

ข้อจำกัดของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง

  • มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ที่มีนวัตกรรมพิเศษ
  • ยังไม่สามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในบางราย ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง และผู้ที่เคยผ่าตัด หรือมีพังผืดในท้องจำนวนมาก

 

วิธีการเตรียมตัวก่อนและหลังผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัด

  • เตรียมร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • แจ้งประวัติประจำตัว การแพ้ยา โดยให้แจ้งแพทย์ทันทีที่เข้ารับการรักษา และแจ้งอีกครั้งเมื่อรู้ว่าจะต้องผ่าตัด
  • งดสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์
  • กรณีผ่าตัดลำไส้ แพทย์จะทำการล้างลำไส้ โดยจะให้ยากระตุ้นการขับถ่ายออกมาให้หมด
  • ไม่สวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู หรือเครื่องประดับจากการเจาะตามร่างกาย หากนำติดตัวมาที่โรงพยาบาลต้องถอดเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย

 

หลังการผ่าตัด

  • งดน้ำ งดอาหาร ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ตามแพทย์สั่ง
  • งดสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Minimal Invasive Surgery นั้น จำเป็นต้องอาศัยแพทย์และทีมงานที่มีความชำนาญพิเศษ โดยทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ มีทีมแพทย์ที่ผ่านการศึกษาอบรมการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จากสถาบันการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ จึงพร้อมดูแลและให้การรักษาแก่ทุกท่านเป็นอย่างดี


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn