ผู้สูงอายุควรรู้...ตรวจสุขภาพอย่างไรให้ไกลความเสี่ยง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
01-ต.ค.-2566

ผู้สูงอายุควรรู้...ตรวจสุขภาพอย่างไรให้ไกลความเสี่ยง

เมื่ออายุมากขึ้น โรคต่างๆ ก็เริ่มถามหา ทั้งโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามกาลเวลา และความเจ็บป่วยต่างๆ ที่สะสมมาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวตั้งแต่ยังเด็ก การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรอง ป้องกัน และรักษาตั้งแต่อาการยังไม่มากจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดี ไม่เกิดความเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น เช่น โรคเหล่านี้ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

 


โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

  1. โรคเบาหวาน : คือโรคที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อพาน้ำตาลที่ร่างกายได้รับไปใช้เป็นพลังงานได้ จนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้น้ำตาลตกค้างอยู่ในร่างกาย จนกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ซึ่งน้ำตาลที่สะสมในกระแสเลือดและตามอวัยวะต่างๆ คือสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา

 

  1. โรคความดันโลหิตสูง : เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และมักไม่มีอาการแสดง แต่ในบางรายอาจมีอาการแสดงออกมาเล็กน้อย เช่น ปวดหัว มึนงง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือหน้ามืดเป็นลม

นอกจากนี้ โรคความดันยังเป็นต้นตอของการเกิดโรคต่างๆ อีกด้วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ไตเสื่อม หรือไตวายเรื้อรัง

 

  1. โรคไขมันในเลือดสูง : คือภาวะที่คอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือดสูง โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ การกินยาบางชนิด หรือพฤติกรรมที่ชอบกิินของทอดของมันเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

 

  1. โรคไต : เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกรองและขับของเสียลดลง ของเสียจึงตกค้างอยู่ในร่างกายมาก จนเกิดอาการตัวบวม ไตวายหรือไตล้มเหลวได้ โดยในช่วงระยะเริ่มแรกของโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนให้ทราบได้ แต่อาการจะแสดงออกมาในช่วงระยะท้ายๆ หรือระยะเรื้อรัง เนื่องจากไตได้รับความเสียหายมากแล้ว ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นการรักษาก็จะทำได้ยาก

 

  1. โรคข้อเสื่อม : เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกบริเวณผิวข้อต่อที่ถูกทำลายลงอย่างช้าๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างข้อต่อ โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ คืออายุที่มากขึ้น รวมถึงการใช้งานข้อต่ออย่างหนักเป็นเวลานาน เช่น ทำงานที่ต้องยกของหนัก การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การมีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ อาจทำให้ข้อต่อผิดรูป และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

  1. โรคอัลไซเมอร์ : เกิดจากคราบเบต้า อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) และคราบเทา (Tau) ที่ฝังแน่นอยู่ในระบบประสาทของสมอง ปกติแล้วร่างกายจะสามารถชะล้างคราบเหล่านี้เองได้ แต่ปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งสภาพแวดล้อม พันธุกรรม หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การนอนน้อย จะทำให้ประสิทธิภาพการชะล้างคราบลดลง จนพัฒนากลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ บางรายอาจทำให้สมองเสียหายจนใช้งานต่อไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองได้

 


ตรวจสุขภาพผู้สูงวัย ควรตรวจอะไรบ้าง?

  1. ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจชีพจรและวัดความดันโลหิต
  2. ตรวจปัสสาวะ โดยตรวจดูความใสและปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และแท่งโปรตีนคาสท์ (Casts) ในปัสสาวะ เพื่อหาความผิดปกติของไต
  3. ตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจดูพยาธิ และตรวจว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระหรือไม่
  4. ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
  5. ตรวจระดับไขมันในเลือด ประกอบไปด้วยการตรวจวัดปริมาณ คอเลสเตอรอล (Cholesterol), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride), ไขมันชนิดดี เอชดีแอล (HDL) และไขมันชนิดเลว แอลดีแอล (LDL)
  6. ตรวจน้ำตาลในเลือด (FBS) เป็นการประเมินว่ามีน้ำตาลในเลือดสูงเกินหรือไม่ เพื่อหาแนวโน้มการเป็นโรคเบาหวาน
  7. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูการทำงานของหัวใจและภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  8. ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ช่วยประเมินความแข็งแรงของหัวใจและร่างกายขณะออกกำลังกาย ใช้ประเมินความสามารถสูงสุดของหัวใจขณะออกกำลังกาย และคัดแยกโรคที่เกี่ยวกับอาการเหนื่อยง่ายว่ามาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่
  9. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) ตรวจเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ
  10. การตรวจความหนาแน่นของกระดูก บริเวณกระดูกข้อมือ สะโพก และสันหลัง เพื่อคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงกระดูกหัก และกระดูกพรุนในอนาคต
  11. การตรวจเอกซเรย์ปอด (CXR) ใช้ในการคัดกรองหาจุดหรือฝ้า หรือรอยโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจ
  12. ตรวจพิเศษอื่นๆ หากมีภาวะเสี่ยง เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจตา การตรวจเหงือกและฟัน หรือตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง

 

ทั้งนี้ รายการการตรวจที่กล่าวมา เป็นเพียงรายการตรวจพื้นฐานทั่วไปที่ผู้สูงอายุควรตรวจเท่านั้น หากผู้สูงอายุมีภาวะเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ร่วมด้วย ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหารอยโรคต่างๆ ที่ยังไม่แสดงอาการเพิ่มเติม เพื่อการป้องกันโรคให้รอบด้านยิ่งขึ้น

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn