ปวดท้อง แบบไหน? ถึงใช่ แผลในกระเพาะอาหาร!
อาการปวดท้อง เป็นๆ หายๆ อาจทำให้หลายคนเคยชินจนมองข้ามไป แต่รู้ไหมว่านี่อาจเป็นสัญญาณของ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ที่หากปล่อยไว้นาน อาจนำไปสู่ความเจ็บปวดและ ภาวะแทรกซ้อน รุนแรงได้ วันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่อง แผลในกระเพาะอาหาร สาเหตุ อาการ และวิธีดูแลตัวเองกัน
แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร?
แผลในกระเพาะอาหาร เกิดขึ้นเมื่อ เยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นถูกทำลาย โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะเสียสมดุลระหว่าง กรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ที่หลั่งออกมามากเกินไป หรือการที่ เยื่อบุเมือก ในผนังกระเพาะสร้างเกราะป้องกันตัวเองได้ไม่ดีพอ ทำให้ผนังภายใน กระเพาะอาหาร ถูกทำลายจนเกิด แผล ขึ้นมา
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิด แผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่:

- การติดเชื้อ H. Pylori: ในปัจจุบันการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori)ถือเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้าและกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยขึ้น
- การใช้ยาบางชนิด: โดยเฉพาะ ยากลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) เช่น แอสไพริน หรือ ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ บางประเภท ซึ่งยาเหล่านี้จะลดการสร้างสารปกป้อง เยื่อบุกระเพาะอาหาร
- พฤติกรรมการกิน: เช่น การกินอาหารไม่ตรงเวลา, กินอาหารรสจัด (เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด), กินอาหารเย็นจัด หรือร้อนจัด
- พฤติกรรมอื่นๆ: การดื่มสุรา หรือ การสูบบุหรี่ ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิด แผลในกระเพาะอาหาร ได้เช่นกัน
- ความเครียด: แม้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่ ความเครียด สามารถกระตุ้นให้ อาการ ของ แผลในกระเพาะอาหาร แย่ลงได้
สัญญาณเตือน! โรคแผลในกระเพาะอาหาร ที่ต้องรีบไปพบแพทย์
หากคุณมี อาการ ดังต่อไปนี้ ที่เป็น สัญญาณเตือน ว่าคุณอาจกำลังมี แผลในกระเพาะอาหาร อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไป พบแพทย์ เพื่อ ตรวจวินิจฉัย และรับ การรักษา ที่เหมาะสม:
- ปวดหรือจุกแน่นท้อง/ใต้ลิ้นปี่: มักจะเกิดขึ้นเมื่อ ท้องว่าง หรือในช่วงกลางดึก อาการปวดอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่กี่นาที ไปจนถึงนานเป็นชั่วโมง
- ปวดแสบท้องมาก: โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกิน อาหารรสจัด (เช่น เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด)
- ปวดท้องเป็นๆ หายๆ: อาการปวด อาจคงอยู่เป็นสัปดาห์ จากนั้นอาจหายไปเอง แล้วกลับมาเป็นอีกในหลายเดือนต่อมา
- ปวดท้องกลางดึก: ตื่นขึ้นมาเพราะ ปวดท้อง ในช่วงกลางดึกบ่อยครั้ง หรือปวดจนนอนไม่หลับ
- อาการอื่นๆ ที่อาจมีร่วมด้วย: เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องอืด หลังกินอาหาร, มี ลมในกระเพาะ มาก, เรอบ่อย, หรือ ท้องร้องโครกคราก
โดยทั่วไป อาการปวดท้อง มักจะทุเลาลงเมื่อกิน ยาลดกรด หรือดื่มนม และในกรณีที่ ท้องว่าง เมื่อกินอาหารเข้าไป อาการก็มักจะดีขึ้นได้เองชั่วคราว
ความน่ากลัวของ...ภาวะแทรกซ้อนแผลในกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยหลายรายมักรอจน อาการแผลในกระเพาะอาหาร รุนแรงจึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งการปล่อยไว้จน อาการ ลุกลาม อาจทำให้เกิด ภาวะแทรกซ้อน ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น:
- ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร: เป็น ภาวะแทรกซ้อน ที่พบบ่อย ผู้ป่วยจะมี อาเจียนเป็นเลือด สีแดงสดหรือสีดำคล้ำ, ถ่ายเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหลว (เหมือนยางมะตอย), วิงเวียนศีรษะ, อ่อนเพลีย, และ หน้ามืด อาจนำไปสู่ ภาวะโลหิตจาง รุนแรงได้
- กระเพาะอาหารทะลุ: เป็น ภาวะฉุกเฉิน ทางการแพทย์ที่ต้องรีบ ผ่าตัด ผู้ป่วยจะ ปวดท้องอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน บริเวณช่องท้อง โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสถูก ท้องบวม และ แข็งตึงกว่าปกติ
- กระเพาะอาหารอุดตัน: เกิดจาก แผล ที่เป็นซ้ำๆ และทำให้เกิดพังผืดหรือการบวม ผู้ป่วยจะมี อาการปวดท้อง ร่วมกับ เบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน (โดยเฉพาะหลังกินอาหาร), กินอาหารได้น้อยลงและ อิ่มเร็ว กว่าปกติ

ดูแลรักษาแผลในกระเพาะอาหาร อย่างไร? ให้หายขาด
การรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงของโรค:
- การใช้ยาลดกรด: หรือ ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร กลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด (Proton Pump Inhibitors - PPIs) ซึ่งจะช่วยลดการหลั่งกรดและทำให้ แผล หายเร็วขึ้น
- การกำจัดเชื้อ H. Pylori: หากตรวจพบ เชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร ในกระเพาะอาหาร แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับ ยาลดกรด เพื่อ กำจัดเชื้อ ชนิดนี้ให้หมดไป ซึ่งสำคัญมากในการป้องกัน แผล กลับมาเป็นซ้ำและลดความเสี่ยง มะเร็งกระเพาะอาหาร
- การปรับพฤติกรรม: ผู้ป่วยจะต้องกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ และต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วย เพื่อให้ แผล หายเร็วขึ้นและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
หากกิน ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร แล้ว อาการ ไม่ดีขึ้น หรือมี ภาวะแทรกซ้อน ควรรีบ พบแพทย์ ทันทีเพื่อ ตรวจหาสาเหตุ ที่แท้จริงและปรับ แผนการรักษา ให้เหมาะสม

ลดความเสี่ยงโรคกระเพาะอาหารได้...แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โรคแผลในกระเพาะอาหาร แม้จะรักษาจนหายดีแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่รู้จักป้องกันหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้กลับมาเป็น แผลในกระเพาะอาหาร อีก ควรลดความเสี่ยงด้วยการปฏิบัติดังนี้:
สิ่งที่ควรทำ
- ทานอาหารอ่อนๆ: อาหารย่อยง่าย, ปรุงสุก, สะอาด และมีรสชาติไม่จัดจ้าน
- พักผ่อนให้เพียงพอ: ความเครียด สามารถกระตุ้นอาการได้ การพักผ่อนช่วยให้ร่างกายฟื้นตัว
- จัดการความเครียด: ทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อ คลายความเครียด เช่น โยคะ อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง
- วางแผนการใช้ชีวิต: กำหนดตารางชีวิตอย่างรอบคอบ แต่มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลาย เพื่อลด ความวิตกกังวล
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- การสูบบุหรี่
- การใช้ยาบางชนิด: โดยเฉพาะ ยาแอสไพริน หรือ ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ บางประเภท หากจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษา แพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อหาวิธีป้องกันกระเพาะอาหาร หรือใช้ยาทางเลือกอื่น
- การกินอาหารรสจัด: อาหารเผ็ดจัด, เปรี้ยวจัด, อาหารเย็นจัด หรือ ร้อนจัด
การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอและ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม จะช่วยให้คุณห่างไกลจาก แผลในกระเพาะอาหาร และมี สุขภาพกระเพาะอาหาร ที่แข็งแรงในระยะยาวค่ะ
บทความโดย
นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์
แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn