โรคไอพีดี IPD
IPD ย่อมาจาก Invasive Pneumococcal Disease คือโรคติดเชื้อ ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า นิวโมคอคคัส ทำให้เกิดโรคได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะก่อให้เกิดโรครุนแรงได้ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดหรือที่เยื่อหุ้มสมอง ก็อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ การติดต่อของโรคนี้ สามารถติดต่อผ่านทางเดินหายใจ ไอจาม น้ำมูก คล้ายกับโรคหวัด
อาการของโรคไอพีดี IPD
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไอพีดี IPD จะก่อให้เกิดอาการภายใน 1-3 วัน นับจากวันที่ได้รับเชื้อ โดยจะมีอาการผิดปกติแสดงออกมาได้หลายระบบ ดังนี้
1. อาการไซนัสอักเสบ
2. อาการหูติดเชื้อหรือหูชั้นกลางอักเสบ
3. อาการปอดอักเสบหรือปอดบวม
4. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
5. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
เราจะทราบได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อไอพีดี IPD
หากสงสัยว่าลูกจะมีการติดเชื้อไอพีดี IPD แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การย้อมสีดูชนิดของเชื้อ และการเพาะเชื้อในที่ต่างๆ เช่น ในเสมหะ ในกระแสเลือดหรือในน้ำไขสันหลัง เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคไอพีดี IPD
➮ การรักษาตามอาการ
➮ การให้ยาฆ่าเชื้อ
วิธีการป้องกันโรคไอพีดี IPD
➮ ดูแลความสะอาดของใช้ลูก ล้างมือบ่อย ๆ
➮ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม
➮ ไม่พาเด็กไปที่ชุมชนแออัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดคนที่เป็นโรคไอพีดี IPD
➮ ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย
วัคซีน IPD
➮ แนะนำให้ฉีดในเด็กเล็ก โดยสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่ อายุ 2 เดือนขึ้นไปถึงอายุ 5 ปี
➮ สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคธาลัสซีเมีย ไม่มีม้าม และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวัคซีนเช่นกันเนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคที่รุนแรง
บทความสุขภาพ