โรคท้องร่วงในเด็ก Diarrhea
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
24-เม.ย.-2566

อาการท้องร่วงในเด็ก

ท้องร่วง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี  และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยด้วยโรคท้องร่วงมากขึ้นทุกปี โดยพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มีจำนวนผู้ป่วยท้องร่วง 33.36 เคสต่อประชากร 1,000 ราย ในปี ค.ศ.2010  เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33.79 เคสต่อประชากร 1,000 คนต่อปี ในช่วง ค.ศ. 2015-2019 หรือเพิ่มขึ้นประมาน 0.43 เคสต่อประชากร 1,000 คน ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

ลักษณะอาการท้องร่วง
ลักษณะอุจจาระที่เหลวกว่าปกติ หรือมีมูกเลือดปนมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อวัน หรือในกรณีที่วัดปริมาณอุจจาระได้ คือ อุจจาระเกิน 10 กรัม/กก./วัน ในทารกหรือเด็กเล็ก หรือ อุจจาระเกิน 200 กรัม/วัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่


ความถี่ของการถ่ายอุจจาระ
โดยส่วนใหญ่แล้วในเด็กทารกสามารถขับถ่ายได้อย่างปกติ 3-10 ครั้งต่อวัน ได้ ขึ้นอยู่กับนมที่เด็กรับประทาน ซึ่งเด็กที่ทานนมแม่มักถ่ายบ่อยกว่าเด็กที่ทานนมชงหรือนมผง   ส่วนในเด็กวัยเตาะแตะและเด็กโตมักจะถ่ายปกติวันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาหารที่ทานเข้าไป

ลักษณะสีของอุจจาระ
 
สีเหลืองหรือน้ำตาล คือสีอุจจาระปกติ
 
สีเขียว อาจเกิดจากทานผักหรือเครื่องดื่มที่มีสีเขียวมากเกินไป กินธาตุเหล็ก หรือท้องเสียจนน้ำดีไม่สามารถย่อยและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ทัน
➮ 
สีดำ อาจเกิดจากรับประทานธาตุเหล็ก ทานอาหารที่มีสีดำ เช่น black licorice หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร
 
สีแดง อาจเกิดจากบริโภคอาหารที่มีสีแดง เช่น บีทรูท น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น จากยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะบางชนิด หรือเลือดออกจากทางเดินอาหาร
 
สีซีด ให้ระวังเพราะอาจเกิดจากการอุดตันในท่อน้ำดี หรืออาจเกิดจากทานยาบางชนิดปริมาณมาก เช่น ยาลดกรดอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ bismuth subsalicylate เป็นต้น

ระยะเวลาของการถ่ายเหลว
 
ท้องร่วงเฉียบพลัน คือ ท้องร่วงที่เป็นมาไม่เกิน 7 วัน
 
ท้องร่วงยืดเยื้อ คือ ท้องร่วงที่เป็นนาน 8-13 วัน
 
ท้องร่วงเรื้อรัง คือ ท้องร่วงที่เป็นนานตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป

ซึ่งอาการท้องร่วงเฉียบพลัน สาเหตุของการถ่ายเหลวเฉียบพลันในเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และผลข้างเคียงของยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะ  และอาจมีสาเหตุอื่นที่เกิดนอกระบบทางเดินอาหารแต่พบได้น้อย
ดังนั้น เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องร่วงจึงควรได้รับการประเมินเบื้องต้นก่อนว่ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงแค่ไหน เช่น ปากแห้ง ตาลึกโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นไว มีอาการกระสับกระส่าย ร้องไห้งอแงผิดปกติหรือซึมลง น้ำหนักตัวลดลง  เป็นต้น ซึ่งหากไม่มั่นใจควรรีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจที่โรงพยาบาล

การรักษาโรคท้องร่วง
การรักษาเบื้องต้นในขณะอยู่ที่บ้านถ้าหากลูกน้อยมีอาการท้องร่วง อาจจะต้องให้สารน้ำทางปาก เช่น เกลือแร่ ปริมาณ 10 มล./กก. ต่อการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ 1 ครั้ง (ปริมาณสูงสุด 240 มล.ต่อครั้ง)  แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานเกลือแร่ชดเชยให้เพียงพอต่อการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในแต่ละครั้ง อาจเป็นเพราะ อาเจียนมาก ทานไม่ได้เลย หรือถ่ายเหลวหลายครั้ง ในปริมาณมาก ซึมลง ควรรีบพามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เนื่องจากหากปล่อยให้เกิดภาวะขาดน้ำที่รุนแรงนานๆ อาจก่อให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และเกิดภาวะช็อกได้


อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ท้องร่วง
1.ทารกที่กินนมแม่ แนะนำให้กินนมแม่ต่อได้ หากยังถ่ายเหลวหลายครั้งหลังรับประทานนม หรือนมแม่ออกครั้งละปริมาณมาก พิจารณาให้กินน้ำนมส่วนหลังไปก่อนนะคะ แล้วบีบน้ำนมส่วนหน้าเก็บแช่ตู้เย็นไว้ให้กินได้เมื่อหายท้องเสียแล้ว
2. รับประทานอาหารตามวัย ตามปกติ
3. การเปลี่ยนนมเป็นนมสูตรที่ปราศจากน้ำตาลแลคโทสซึ่งในกรณีนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนในผู้ป่วยท้องร่วงเฉียบพลันทุกราย
4. ในรายที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำรุนแรงให้สงสัยอาจมีภาวะ lactose intolerance จึงอาจจะพิจารณาให้เปลี่ยนนมเป็นสูตรที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโทส แต่ให้เปลี่ยนนมชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องงดตลอดไป
5. แนะนำให้กินอาหารตามวัยที่ย่อยง่าย กินในปริมาณน้อยๆ และกินบ่อยๆ ควรงดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร

ในส่วนของการรักษา เบื้องต้นให้รับประทานยาตามอาการ ดื่มเกลือแร่ ส่วนยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะจะพิจารณาให้ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ เนื่องจากท้องร่วงเฉียบพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ การรับประทานยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้

การป้องกันโรคท้องร่วง
1. ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำทั้งตัวเด็ก และผู้ดูแล
2. รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และ ครบ 5 หมู่
3. ถ้าเกิดอาการท้องร่วงแล้ว ผู้ดูแลควรระมัดระวังการแพร่เชื้อ โดยดูแลหลังการขับถ่ายให้สะอาดเรียบร้อย เก็บแพมเพิสทิ้งลงถังขยะให้มิดชิด ไม่พาผู้ป่วยไปลงสระว่ายน้ำ และงดไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนจนกว่าจะหายดี






🔹บทความสุขภาพ🔹
➮ อาการท้องผูกในเด็ก
➮ โรคมือเท้าปาก
➮ การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ALLERGY SCREENING
➮ พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย 








Reference:

1. Miguel G O'Ryan, MD, Jason Levy, MD, RDMS. Pateint education: Acute diarrhea in children(Beyond the Basics). UpToDate Feb 2023

2. Acute diarrhea. AMERICAN COLLEGE OF GASTROENTEROLOGY, Advancing Gastroenterology, Improving Patient Care 2023

3. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก พ.ศ.2562; แนวเวชปฏิบัติโรคทางเดินอาหารและตับในเด็ก เล่ม 5

4. Andi L. Shane, MD, Rajal K. Mody, MD John A. Crump, MD et al. 2017 Infectious Disease Society of American Clinical Practice Guidelines for the Diagnosis and Management of Infectious Diarrhea. CID 2017:65( 15 December)

5. Busara Charoenwat, Kunanya Suwannaying, Watuhatai Paibool, Sumitr Sutra, et al. Burden and pattern of acute diarrhea in Thai children under 5 years of age: a 5- year descriptive analysis based on Thailand National Health Coverage(NHC) data. BMC publish health (2022)22:1161




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5121
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset