ไขข้อข้องใจ...ตอบข้อสงสัยลูกแพ้นมวัว
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
17-พ.ย.-2566

ไขข้อข้องใจ...ตอบข้อสงสัยลูกแพ้นมวัว

หนึ่งในปัญหาของลูกน้อยในช่วงขวบปีแรกที่คุณพ่อคุณแม่มักมาปรึกษาคุณหมอเด็กอยู่บ่อยครั้ง คือ ภูมิแพ้ และภูมิแพ้ที่พบบ่อยในวัยนี้ คือ อาการแพ้อาหารโดยเฉพาะ “การแพ้นมวัว” ซึ่งพบมากถึง 3-8% ในวัยเด็ก และ 2-6% จะแสดงอาการแพ้ให้เห็นในขวบปีแรก

แม้ว่าการแพ้นมวัวจะพบได้บ่อยกว่าการแพ้อาหารชนิดอื่นในเด็ก แต่ก็มีโอกาสหายได้เร็วและมากกว่าอาหารชนิดอื่นเช่นกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของการแพ้นมวัวแล้วละก็ รับรองว่าคุณพ่อคุณแม่จะสามารถรับมือและจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน



การแพ้นมวัว คือ...

การแพ้โปรตีนนมวัว (Cow’s Milk Protein Allergy) หรือที่รู้จักกันในชื่อ การแพ้นมวัว (Cow’s Milk Allergy) เป็นอาการหรือกลุ่มอาการที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นจากโปรตีนในนมวัวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นผ่านกลไกภูมิแพ้ ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้หลายระบบ และระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละบุคคล โดยอาการของการแพ้นมวัวมีมากมายหลายอย่าง เช่น ลมพิษ ตาหรือปากบวม ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจหอบเหนื่อย อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หรือความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ รวมถึงช็อค เป็นต้น

 

การแพ้นมวัวเกิดจากอะไร?

ในปัจจุบันพบว่าการแพ้นมวัวมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พันธุกรรม ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว วิธีการคลอด (การคลอดก่อนกำหนด) ชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือการได้รับการกระตุ้นตั้งแต่ในครรภ์จากการที่คุณแม่ดื่มนมวัวหรืออาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบมากกว่าที่เคยดื่ม เป็นต้น โดยแต่ละปัจจัยส่งผลให้เกิดการแพ้นมวัวได้ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์คุณแม่ ขณะคลอด หลังคลอด และขณะกำลังเจริญเติบโต

 


อาการแสดงของการแพ้นมวัวมีอะไรบ้าง?

อาการแพ้นมวัวที่พบได้ในทารกสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่ 30 - 60 นาที หรืออาจเป็นสัปดาห์หลังดื่มนมวัว และจะแสดงมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา โดยอาการที่แสดงให้เห็นจะแบ่งตามระบบ ดังนี้

อาการทางผิวหนัง : มีลักษณะเป็นผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ โดยจะเป็นผื่นแดง คัน อาจเป็นทั่วตัวหรือเป็นบางส่วนของร่างกายก็ได้ อาจพบบริเวณหนังตาหรือริมฝีปากบวมร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ยังมีผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นแดง แห้งเป็นขุยและคัน บางครั้งอาจพบเป็นตุ่มน้ำใส เมื่อแตกออกจะเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วแห้งตกสะเก็ดได้

อาการทางระบบทางเดินหายใจ : มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีเสมหะ หรือหายใจมีเสียงหวีดจากหลอดลมตีบหรือเลือดออกในปอด เป็นต้น

อาการทางระบบทางเดินอาหาร : มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด อาการเหล่านี้อาจเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หรืออาจพบอาการอื่นๆ เช่น ปวดท้องโคลิก (Colic) ท้องผูก ซีด หรือเลี้ยงไม่โตได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ลูกน้อยที่ทานนมแม่อย่างเดียว สามารถเกิดการแพ้นมวัวได้ เนื่องจากถูกกระตุ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่และหลังคลอดแล้วได้รับผ่านนมแม่จากการที่คุณแม่ดื่มนมวัว หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว

 

การวินิจฉัยการแพ้นมวัวทำได้อย่างไร?

การวินิจฉัยการแพ้นมวัวจะต้องใช้ข้อมูลจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อพิจารณาว่าอาการที่สงสัยเป็นอาการของการแพ้นมวัวหรือไม่ เพราะหลายอาการที่เป็นอาการของการแพ้นมวัวสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่นกัน หลังจากนั้นแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยการตรวจเพิ่มเติมที่พบได้บ่อย เช่น

  • ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin Prick Test) ในบางรายอาจทำแบบแปะ (Skin Patch Test) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลรักษา
  • การตรวจเลือด ส่วนใหญ่เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ที่จำเพาะต่อโปรตีนนมวัว
  • ทดสอบการแพ้ด้วยการทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge) เป็นการทดสอบเพื่อยืนยันการวินิจฉัยการแพ้อาหาร มักทำในกรณีที่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หรือทำในกรณีที่ต้องการยืนยันว่าหายจากการแพ้อาหารด้วย การทดสอบด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจลองทานเองที่บ้านได้ หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอนุญาต

ปัจจุบันพบว่าภูมิแพ้มีหลายกลไกที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ รวมถึงการแพ้นมวัวด้วย ดังนั้นอาการแพ้นมวัวแบบหนึ่งอาจเกิดจากกลไกแพ้มากกว่าหนึ่งกลไกได้ การตรวจเลือดหรือการทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง อาจไม่สามารถตรวจสอบครอบคลุมได้ทุกกลไกที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าเป็นอาการแพ้หรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายร่วมด้วยเสมอ

 

ดูแลอย่างไรเมื่อลูกแพ้นมวัว?

เมื่อพบว่าลูกน้อยแพ้นมวัว แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น รวมถึงแนะนำเรื่องอาหารและโภชนาการสำหรับคุณแม่และลูกน้อยดังนี้

  • ให้ลูกน้อยงดรับประทานนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิด
  • ในกรณีที่คุณแม่ให้นมลูก ให้คุณแม่งดดื่มนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดในระหว่างที่ให้นมลูก
  • ในกรณีที่คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมผงสำหรับทารก ให้เปลี่ยนชนิดของนมที่ดื่มเป็นนมชนิดพิเศษสำหรับเด็กแพ้นมวัว เช่น นมที่มีโปรตีนนมวัวย่อยละเอียด นมที่มีโปรตีนเป็นกรดอะมิโน นมจากเนื้อไก่ และนมข้าวอะมิโน เป็นต้น การเลือกใช้นมสูตรพิเศษควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ที่ดูแลรักษา

หลังจากงดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว หรือการเปลี่ยนมาใช้นมสูตรพิเศษสำหรับเด็กแพ้นมวัวแล้ว อาการมักดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์ เมื่อลูกน้อยไม่มีอาการแพ้นมวัวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแล อาจพิจารณาทดสอบด้วยการดื่มหรือให้เริ่มดื่มเองที่บ้าน (แพทย์ต้องอนุญาตก่อน) เพื่อดูว่าลูกน้อยหายจากการแพ้นมวัวแล้วหรือไม่

 

ลูกแพ้นมวัว สามารถหายได้เองหรือไม่?

ถึงแม้ว่าการแพ้นมวัวเป็นการแพ้อาหารที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก แต่ก็มีโอกาสหายได้เร็วและมากที่สุดเช่นกัน หลังจากอายุ 1 ปี เด็กที่แพ้นมวัวจะเริ่มหายจากการแพ้นมวัว โดยโอกาสในการหายจะมีมากขึ้นตามช่วงอายุ ดังนี้

  • อายุ 1 ปี มีโอกาสหายประมาณ 50%
  • อายุ 2 ปี มีโอกาสหายประมาณ 70%
  • อายุ 3 ปี มีโอกาสหายประมาณ 90%

ปัจจุบันพบว่าเด็กแพ้นมวัวบางคนอาจไม่หายและยังคงมีอาการอยู่จนโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมักพบในเด็กที่มีอาการแพ้แบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจพิจารณาทำอิมมูโนบำบัดด้วยการกิน (Oral immunotherapy หรือ OIT) ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

เพื่อเป็นการป้องกันและลดอาการแพ้นมวัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกน้อยอาจแพ้นมวัว ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษา หรือการเลือกนมที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อย เพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย และหายจากการแพ้นมวัวในอนาคต

บทความโดย

นายแพทย์วรุตม์ ทองใบ

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn