ไขข้อสงสัย HIV กับ เอดส์ ใช่โรคเดียวกันหรือไม่?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
01-ธ.ค.-2566

ไขข้อสงสัย HIV กับ เอดส์ ใช่โรคเดียวกันหรือไม่?

หลายคนคงมีความเชื่อที่ว่าการติดเชื้อ HIV คือการติดโรคเอดส์ แต่ในความจริงแล้วความเชื่อนี้อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด วันนี้เราจึงมาให้คำตอบเกี่ยวกับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นกัน เพื่อให้รู้ทันและป้องกันอย่างถูกวิธี

 


HIV กับ เอดส์ต่างกันอย่างไร?

HIV : เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่โจมตีเซลล์ในร่างกายของเรา ไวรัสชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาวที่คอยทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งหากปล่อยไว้ไวรัสตัวนี้จะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์ (AIDS) ได้ในอนาคต

โรคเอดส์ (AIDS) : เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่งเกิดจากการปล่อยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายไป หรือเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” ส่งผลให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคภายนอก จึงมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม หรือเชื้อราขึ้นสมอง เป็นต้น และเชื้อจะพัฒนาไปสู่โรคเอดส์ได้ในที่สุด โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 8-10 ปีนับตั้งแต่ได้รับเชื้อ

 

แล้วเชื้อ HIV ติดต่อกันได้อย่างไร?

เชื้อไวรัส HIV สามารถตรวจพบได้ในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด  และน้ำนม โดยการแพร่เชื้อไวรัส HIV สามารถติดต่อกันได้หลักๆ 3 ทางดังนี้

  1. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HIV ในร่างกายโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  2. การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ HIV
  3. การรับเชื้อจากแม่ที่มีเชื้อไวรัส HIV สู่ลูก ซึ่งมีโอกาสรับเชื้อได้ 3 ช่วง คือ ขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และ ให้นมบุตร

 

อาการของผู้ที่ติดเชื้อ HIV และเอดส์

อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV นั้น เบื้องต้นจะมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัด หรือก็คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เมื่อปล่อยไว้อาการจะเริ่มแสดงให้เห็นมากยิ่งขึ้น เช่น เริ่มมีฝ้าขาวในปาก มีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลดลงผิดปกติ และสุดท้ายหากปล่อยไว้นานเข้าเชื้อ HIV จะก่อให้เกิดโรคเอดส์ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อในปอด หรือเชื้อราขึ้นสมอง เป็นต้น

 


เราจะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อ HIV

เชื้อ HIV เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน และในระยะแรกๆ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว ดังนั้น การตรวจคัดกรอง HIV จึงสามารถช่วยให้พบเชื้อและรับการรักษาได้ทันก่อนที่เชื้อจะพัฒนากลายเป็นโรคเอดส์ เนื่องจากการตรวจพบการติดเชื้อ HIV ในระยะแรก จะช่วยให้มีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมได้ยิ่งขึ้น และได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อนำไปปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม และไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

 

การรักษาผู้ติดเชื้อ HIV และ เอดส์

ในปัจจุบันการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV จะสามารถทำได้โดยการใช้ยาต้านไวรัส HIV ที่จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวและการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส และฟื้นฟูภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กลับมาใกล้เคียงกับคนปกติที่สุด จนสามารถมีครอบครัวได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ และต้องมีการป้องกันที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้รับเชื้ออื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย โดยการกินยาต้านไวรัสจำเป็นต้องกินยาให้สม่ำเสมอทุกวันต่อเนื่องตลอดชีวิต

 


ป้องกันตัวเองอย่างไรให้ไกล HIV

  • หมั่นตรวจคัดกรอง HIV โดยเฉพาะในคู่สามี-ภรรยาที่วางแผนการมีลูก หรือเริ่มไปฝากครรภ์
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ฉีดอื่นๆ ร่วมกับผู้อื่น

 

โดยสรุปแล้ว การติดเชื้อ HIV ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคเอดส์เสมอไป เพียงแต่หากปล่อยไว้จะก่อให้เกิดโรคเอดส์ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ในปัจจุบันการวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV สามารถตรวจคัดกรองได้อย่างรวดเร็วและพบเชื้อได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะยิ่งช่วยให้มีทางเลือกในการรักษา และป้องกันไม่ให้ตนเองแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้

               ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีรวมถึงในผู้ที่มีความเสี่ยงควรเพิ่มรายการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติม เช่น ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV), ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส, หนองใน และโรคเริม เป็นต้น เพื่อช่วยคัดกรองความเสี่ยง ป้องกันตนเองและป้องกันผู้อื่นจากการติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้

การตรวจคัดกรอง HIV เป็นประจำ จะช่วยให้ป้องกันตนเองและป้องผู้อื่นจากการติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ได้

บทความโดย
นายแพทย์อาจ 
พรวรนันท์

แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn