ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน...ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) คือภาวะที่เลือดจับตัวเป็นก้อนและอุดตันในหลอดเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ภาวะนี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา
ลิ่มเลือดอุดตัน รู้จักและป้องกัน ก่อนเกิดอันตราย
เลือดเป็นส่วนสำคัญที่ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย เมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น การไหลเวียนของเลือดจะถูกขัดขวาง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมาได้ เช่น อวัยวะสำคัญอย่างหัวใจ สมอง หรือปอดไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
ภาวะอันตราย...เกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- หัวใจวาย : ลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดหัวใจอาจทำให้หัวใจขาดเลือด ส่งผลให้เกิดหัวใจวาย ซึ่งอาจเสียชีวิตได้
- เส้นเลือดในสมองตีบ : หากลิ่มเลือดเดินทางไปอุดตันที่สมอง จะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ซึ่งอาจทำให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
- เส้นเลือดในปอดอุดตัน : ลิ่มเลือดที่อุดตันในปอดจะทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
การปล่อยภาวะลิ่มเลือดอุดตันไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาต่ออวัยวะสำคัญอย่างถาวรหรือการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ดังนั้น การรับรู้ สังเกตอาการ และป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
สัญญาณอันตรายจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาจไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่ก็มีสัญญาณที่สามารถบ่งบอกถึงภัยอันตรายนี้ได้ เช่น
- ขาบวมและปวด : หากขามีอาการบวม เจ็บ หรือปวด โดยเฉพาะที่น่อง อาจเป็นสัญญาณว่ามีลิ่มเลือดอุดตันในขา หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดและเสียชีวิตได้
- หายใจลำบาก : อาการหายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยง่าย ซึ่งระดับความเหนื่อยของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงลิ่มเลือดที่ไปอุดตันในปอด ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที
- เวียนหัวหรือพูดไม่ชัด : หากมีอาการเวียนหัว ปวดหัว โดยปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือการพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด อาจเป็นสัญญาณว่าลิ่มเลือดเกิดการอุดตันในสมอง ซึ่งภาวะนี้หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออัมพฤกษ์อัมพาตได้ หรืออาจเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือด
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่
- การนั่งหรือนอนนิ่งนานๆ เช่น ในกรณีของผู้ที่นั่งเครื่องบินเป็นเวลานานๆ หรือผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล การขยับตัวน้อยทำให้เลือดไหลเวียนช้าลงและเพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้
- การบาดเจ็บหรือการผ่าตัด เนื่องจากการเกิดการบาดเจ็บบางอย่างอาจทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย หรือการผ่าตัดใหญ่สามารถกระตุ้นให้เกิดการจับตัวของเลือด ส่งผลให้เกิดเป็นลิ่มเลือดได้
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคอ้วน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดได้
- การใช้ยาบางชนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดหรือการใช้ฮอร์โมนทดแทน โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ป้องกันลิ่มเลือดอุดตันด้วยวิธีง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้
เพื่อป้องกันอันตรายหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน สามารถทำได้โดย...
- เคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ : หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนิ่งนานๆ ลุกขึ้นเดินหรือยืดเส้นยืดสายเป็นระยะๆ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ : การดื่มน้ำจะช่วยให้เลือดไม่ข้นเกินไป และลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดได้
- ดูแลสุขภาพทั่วไป : การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก
นอกจากนี้การตรวจสุขภาพเป็นประจำก็สามารถตรวจดูสุขภาพของเลือด รวมถึงสุขภาพโดยรวมของเราได้ทั้งหมดอีกด้วย
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญ เพราะการปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้ การสังเกตอาการเบื้องต้น หมั่นดูแลสุขภาพ และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ อย่าปล่อยให้ลิ่มเลือดอุดตันเป็นภัยที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายของคุณ
บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn