-
รู้หรือไม่...เพศชายก็เสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV ได้เหมือนกัน!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
30-พ.ค.-2566

รู้หรือไม่...เพศชายก็เสี่ยงติดเชื้อไวรัส HPV ได้เหมือนกัน!

หลายคนคงคุ้นชินถึงคำแนะนำที่ว่า ผู้หญิงควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัส HPV เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่รู้หรือไม่ว่า! เชื้อไวรัส HPV ก็สามารถติดต่อและก่อโรคในเพศชายได้เช่นกัน แล้ววัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV จะมีความสำคัญกับเพศชายอย่างไรบ้าง? ต้องไปดูรายละเอียดกัน

 


เพศชายเสี่ยงต่อเชื้อไวรัส HPV ยังไง?

ไวรัส HPV ที่เกิดขึ้นในเพศชาย มักเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดยตรงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะในช่องทางใดกับผู้ที่มีเชื้อไวรัส HPV อยู่ในร่างกาย ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก ปากและลำคอ ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาต มะเร็งในช่องปากและลำคอ รวมถึงอาจก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้อีกด้วย อีกทั้งเพศชายจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นหากเป็นกลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อโรคในผู้ชายส่วนใหญ่มักจะเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ก่อมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเพศใดและมีเพศสัมพันธ์กับเพศใดหรือช่องทางใดๆ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัส HPV ได้ทั้งสิ้น

 

ทำอย่างไรจึงลดโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV?

  • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV

 


ทำไมเพศชายถึงควรฉีด

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ในผู้ชายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และยังช่วยป้องกันการเป็นพาหะของเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้อีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ควรฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ด้วยกันทั้งนั้น

 

ฉีดป้องกันตอนไหนดีที่สุด

  • ระหว่างช่วงอายุ 9-26 ปี สำหรับชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์
  • ระหว่างช่วงอายุ 9-45 ปี สำหรับชนิด 9 สายพันธุ์

เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัววัคซีนจะให้ประสิทธิภาพที่สุด และจะให้ประโยชน์มากขึ้นหากฉีดในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน และในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทั้งในผู้หญิงและผู้ชายควรได้รับการคัดกรองหาเชื้อไวรัส HPV และถึงแม้เคยติดเชื้อมาแล้ว ก็ยังได้ผลดีจากการฉีดวัคซีน โดยจะป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับมาก่อนได้ด้วย

 

การได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่มีประสิทธิภาพสูงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ถึง 70-90% ตามชนิดของวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำให้สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อ HPV ให้เหลือน้อยที่สุด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ด้วย

บทความโดย

แพทย์หญิงลูกหวาย คู่ธีรวงศ์

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn