-
“โรคเกาต์” รักษาได้ ถ้าไม่อยากเป็นๆหายๆ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
15-พ.ย.-2566

“โรคเก๊าท์” รักษาได้ ถ้าไม่อยากเป็นๆหายๆ

โรคเก๊าท์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงวัย ถึงแม้จะได้ยินชื่อโรคเก๊าท์อยู่บ่อยๆ แต่ก็น้อยคนที่จะรู้จักจริงๆ ว่าเก๊าท์คืออะไร และด้วยความไม่รู้นี้จึงทำให้เราอาจดำเนินชีวิตประจำวันอยู่บนความเสี่ยง ดังนั้นการทำความเข้าใจในโรคเก๊าท์ในวันที่เรายังไม่เป็นโรค จึงช่วยให้เรารับมือกับโรคนี้ได้อย่างปลอดภัย ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคเก๊าท์กันก่อน...

 


โรคเก๊าท์...ภาวะที่ทำให้เราปวดข้อ

โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้มีการตกผลึกของเกลือยูเรตในข้อ ก่อให้เกิดการอักเสบในข้อ และเกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในข้อตามมา ส่งผลให้มีอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน โดยโรคเก๊าท์สามารถกำเริบขึ้นได้ทุกเวลารวมถึงช่วงเวลานอนหลับ ซึ่งความรุนแรงของอาการโรคเก๊าท์อาจมีความรุนแรงต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะอาการของโรค

 

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง...ต้นเหตุของการเกิดโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมตัวของกรดยูริกในกระแสเลือดมากเกินไป โดยกรดยูริกจะได้จากการเผาผลาญสารพิวรีน (Purines) ซึ่งปกติร่างกายจะสามารถสังเคราะห์สารนี้เองได้ และจะขับกรดยูริกออกผ่านทางไตให้ทันต่อการสร้างใหม่ แต่หากได้รับสารพิวรีนมากเกินไปจนร่างกายได้รับกรดยูริกมากเกินไป หรือร่างกายขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อย ก็จะส่งผลให้เกิดเป็นโรคเก๊าท์

              สารพิวรีนสามารถได้รับจากแหล่งอาหารทั่วไป แต่จะมีอาหารบางชนิดที่มีสารตัวนี้สูง ซึ่งแหล่งอาหารที่มีสารเพียวรีนสูงได้แก่ เนื้อแดง เครื่องในโดยเฉพาะตับ หรืออาหารทะเล เช่น หอยแมลงภู่ ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลฟรุกโตส อย่างไรก็ตาม กรดยูริกในเลือกที่สูงเกินมาตรฐาน อาจไม่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์เสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยและร่างกายของแต่ละบุคคล

 


ปวดตามข้อ...อาจเป็นอาการของโรคเก๊าท์

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์จะมีอาการปวดร้อนรุนแรงบริเวณข้อที่เกิดอาการ จนไม่สามารถทนแรงกดต่างๆ ได้ ผิวหนังบริเวณข้อมีลักษณะบวมแดงและแวววาวขึ้น ส่วนใหญ่มักพบบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นบริเวณข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อนิ้ว และข้อศอก  

ส่วนใหญ่การอักเสบจะหายได้เองในเวลา 1 สัปดาห์ หากได้รับการรักษาอาจหายได้เร็วขึ้น เมื่อหายแล้วอาจเป็นขึ้นใหม่ได้อีก ทำให้เกิดอาการเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาการที่กำเริบซ้ำในอนาคตมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นและเกิดในข้ออื่นได้เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยกระตุ้นได้แก่ การรับประทานอาหารที่มียูริกสูงและความเครียด

 


หากปล่อยโรคเก๊าท์ไว้...อาจเสี่ยงเป็นก้อน “Tophus”

ในผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเรื้อรังจากโรคเก๊าท์เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงบริเวณข้อต่อ และเกิดการรวมตัวของกรดยูเรตทำให้เกิดเป็นก้อนบวมขึ้นบริเวณข้อที่มีอาการ เรียกว่า “Tophus” โดยทั่วไปแล้วก้อน Tophus มักไม่มีอาการเจ็บ แต่หากมีอาการโรคเก๊าท์กำเริบอาจทำให้เกิดอาการบวมและเจ็บขึ้นได้ และหากปล่อยไว้เจ้าก้อนนี้อาจทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ข้อผิดรูป พิการ หรือเส้นเอ็นขาดได้

 

รักษา “โรคเก๊าท์” ทำได้อย่างไร

การรักษาโรคเก๊าท์สามารถให้การรักษาด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่

การรักษาโดยการไม่ใช้ยา : เป็นการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินทั้งอาหารและเครื่องดื่ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรืออาหารที่มีรสหวานเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เลี่ยงการนอนดึก และลดความเครียด
  • รักษาโรคร่วมและปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

การรักษาโดยการใช้ยา : ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีใช้ยา ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยสามารถแบ่งยาออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งแต่ยาแต่ละประเภทจะมีหน้าที่ในการรักษาแตกต่างกัน ได้แก่

  1. การใช้ยาลดอาการอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรคเก๊าท์
  2. การใช้ยาลดระดับกรดยูริก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเก๊าท์โดยการลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุล

หากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องมักจะหายสนิทภายในระยะเวลา 1-3 วัน แต่หากละเลยปละปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษาอาการจะหายเองได้ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ และอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ในอนาคต

 


ลดเสี่ยงโรคเก๊าท์ง่ายๆ...เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรม

ในกรณีที่รู้ตัวว่าเป็นโรคเก๊าท์และทำการรักษาโดยการรับประทานยา ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง จนกว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่มีการตกตะกอนของกรดยูริก แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเก๊าท์ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ โดยสามารถป้องกันได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงแหล่งอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไก่ เป็ด น้ำต้มกระดูก ปลาซาร์ดีน หอยบางชนิด ยอดผัก และอื่นๆ
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขับกรดยูริกได้ลดลง เมื่อขับได้น้อยร่างกายจึงเกิดการสะสมมากขึ้น ส่งผลให้โรคเก๊าท์ในที่สุด
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อลดความเข้มของปัสสาวะ และป้องกันการเกิดนิ่วในไต
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่ในทางกลับกันหากปล่อยไว้นอกจากจะมีอาการเป็นๆ หายๆ แล้ว ยังทำให้ยิ่งมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองเสี่ยงหรือมีอาการสงสัยเกี่ยวกับโรคเก๊าท์ ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยป้องกันโรคเก๊าท์ได้ในอนาคต



บทความโดย
นายแพทย์กฤตเมธ อมรรักษา
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn