-
อาการปวดข้อเรื้อรังไม่ได้เกิดแค่ในผู้สูงวัย
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
10-ต.ค.-2566
อาการปวดข้อเรื้อรังไม่ได้เกิดแค่ในผู้สูงวัย

โรคกระดูกและข้อสามารถเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ หรือจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น

  • ผู้ที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงนานๆ เป็นประจำ
  • คนทำงานที่ต้องยกของหนักๆ
  • การใช้คอมพิวเตอร์ในอิริยาบถเดิมๆ
  • ผู้ที่ชอบนั่งไขว่ห้าง
  • ผู้ที่เล่นกีฬาที่มีการปะทะรุนแรง

 

หลายครั้ง เมื่อเราเกิดอาการปวดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย หลายคนก็หาทางออกด้วยการนวดผ่อนคลายอาการ ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุดและไม่ทำให้หายขาด ซึ่งการปล่อยไว้โดยไม่รักษาให้ตรงจุด ก็จะทำให้กลายเป็นอาการเรื้อรังจนส่งผลให้กระดูกและข้อเสื่อมมากขึ้น รวมถึงเส้นประสาททำงานได้น้อยลงจนเกิดอาการชาและอ่อนแรง กลายเป็นโรคเรื้อรังวนซ้ำไปมาไม่จบสิ้น

 


อาการปวดข้อบอกโรคอะไรได้บ้าง?

อาการปวดข้อ ที่รวมถึงปวดข้อเข่า ข้อเท้า ข้อไหล่ หรือข้อมือ ก็นับเป็นหนึ่งในสัญญาณอาการที่บ่งบอกได้หลายโรค เช่น

  1. โรคข้อเสื่อม : เป็นโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อน หรือเนื้อเยื่อระหว่างข้อต่อกระดูกเกิดการผุกร่อนหรือแตกร้าว มักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ใช้งานข้อต่อเป็นเวลานาน
  2. โรคเก๊าท์ : เป็นโรคข้อต่ออักเสบที่เกิดจากปริมาณกรดยูริกสะสมในร่างกายสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจนกลายเป็นผลึกสะสมอยู่ในข้อต่อ พบได้บ่อยในผู้ชาย โดยข้อต่อที่มักพบว่าเป็นโรคเก๊าท์บ่อยที่สุด คือ ข้อต่อโคนนิ้วโป้งเท้า
  3. เอส แอล อี (SLE) หรือโรคลูปัส : เป็นอีกโรคเรื้อรังที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะของตัวเอง รวมถึงทำลายการทำงานของข้อต่อด้วย โดยโรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเป็นบริเวณข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า และข้อเท้า
  4. รูมาตอยด์ : เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการอักเสบรุนแรงของข้อต่อ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะส่งผลให้ข้อต่อถูกทำลายและเกิดความพิการตามมาได้

 

การผ่าตัดส่องกล้องแบบ Endoscope and Arthroplasty รักษาโรคกระดูกและข้อ

ปัจจุบันนอกจากการผ่าตัดส่องกล้องแบบธรรมดา หรือ Minimally Invasive Surgery (MIS) เรายังมีวิธีการผ่าตัดส่องกล้องอีกวิธีที่สามารถใช้รักษาโรคกระดูกและข้อได้อย่างแม่นยำ คือ Endoscope and Arthroplasty ซึ่งเป็นเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องรูเดียว ขนาดกล้องมาตรฐาน 8 - 12 มม. หรือแบบ 2 รู ที่ต้องสอดกล้องขนาด 4 มม. จึงสามารถเข้าถึงกระดูกและข้อต่อโดยที่ไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ซึ่งช่วยลดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียงได้มากขึ้น

 


นอกจากนี้ ผ่าตัดส่องกล้องแบบ Endoscope and Arthroplasty ยังสามารถทำการรักษาได้หลายส่วนของร่างกาย เช่น

  • ผ่าตัดหมอนรองกระดูกเสื่อม
  • ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
  • ผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

 

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS)

  • ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ทำให้มีความเจ็บปวดน้อย และลดการเสียเลือด
  • ขนาดของแผลเล็กไม่เกิน 12 มม. เทียบกับแผลผ่าตัดแบบเปิดที่มีขนาดกว้าง 120 -200 มม. และกลายเป็นแผลเป็น การผ่าตัดผ่านกล้องจึงช่วยลดขนาดของแผลเป็นลงให้ได้เหลือเพียงนิดเดียว
  • พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ซึ่งเร็วกว่าการพักฟื้นจากการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์
  • ช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด
  • ช่วยลดการเกิดพังผืดบริเวณที่ทำการผ่าตัด
  • ช่วยให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างชัดเจนด้วยเลนส์กำลังขยายของกล้อง ทำให้ผ่าตัดได้อย่างตรงจุด ลดการกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง

 

ทั้งนี้ หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการปวดข้อ ก็ไม่ควรปล่อยให้มีอาการเรื้อรังไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้รักษายากและต้องเจ็บตัวมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีอาการน่าสงสัย ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา ซึ่งอาจจะแค่กินยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัดก็หายได้ แต่หากจำเป็นต้องผ่าตัด ร่างกายก็จะฟื้นตัวได้เร็ว และกลับมามีคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าการมารักษาตอนที่โรคลุกลามรุนแรงแล้ว








สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn