-
ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Minineral Density) ป้องกันอันตรายจากภาวะกระดูกพรุน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-เม.ย.-2566

ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Minineral Density) ป้องกันอันตรายจากภาวะกระดูกพรุน

การเสื่อมสภาพของกระดูก เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถรู้หรือสังเกตได้ด้วยตัวเองจากการมอง จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกหักหรือแตกร้าว แล้วแพทย์ตรวจพบว่า มีภาวะ “ภาวะกระดูกพรุน” ร่วมอยู่ด้วย เราจึงจะทราบ

ซึ่งหากเราไม่อยากกระดูกแตกหรือหักง่ายจากภาวะกระดูกพรุน ในปัจจุบันเราสามารถตรวจ เพื่อวางแนวทางการป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้แล้ว ด้วย “การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก”

 


ภาวะกระดูกพรุน คืออะไร?

ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลง ส่งผลให้กระดูกเกิดช่องว่างภายในเนื้อกระดูก และขาดความแข็งแรงในที่สุด กระดูกจึงแตกหรือหักง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ภาวะนี้เปรียบเสมือนเป็นโรคเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย จนกว่าจะมีการแตกหักและรู้สึกได้ โดยบริเวณที่พบภาวะกระดูกพรุนบ่อย คือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่าย เราจึงควรป้องกันหรือรีบรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยเริ่มจากการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกที่เรียกว่า Bone Minineral Density หรือ BMD

 

ทำความรู้จักกับ “การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก”

การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Mineral Density, BMD) เป็นการตรวจเพื่อหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน โดยตำแหน่งที่ตรวจมักจะเป็นบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่มีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย หรือหากจำเป็นก็สามารถตรวจมวลกระดูกได้ทั่วตัว

การตรวจมวลกระดูกเป็นการตรวจที่ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำและอาหารแต่อย่างใด สามารถเข้ารับการตรวจได้ทันที ใช้เวลาตรวจประมาณ 5-10 นาที ขึ้นอยู่กับจำนวนและบริเวณที่ต้องการตรวจ

 


การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกดีอย่างไร?

  • สามารถตรวจกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เกือบทั้งหมด
  • ผลตรวจคมชัด ถูกต้อง และแม่นยำ
  • ไม่เจ็บปวดขณะตรวจ
  • สะดวก และใช้เวลาตรวจน้อย
  • มีปริมาณรังสีที่ต่ำ

 

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี หรือ
  • ผู้หญิงที่ถึงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 กก./ม.2
  • ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับภาวะที่ทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เป็นต้น
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อมวลกระดูก เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษามะเร็ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่เคยมีประวัติกระดูกเปราะและหักง่าย หรือเคยกระดูกหักมาก่อน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

 

ทุกคนมีโอกาสเป็นภาวะกระดูกพรุน ดังนั้นการได้รับการตรวจมวลกระดูกเพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด และได้รับการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุจนต้องเจ็บป่วยหรือกระดูกแตกหักเสียก่อนจึงเข้ารับการรักษา เพราะการป้องกันนั้นไม่เจ็บตัวและค่าใช้จ่ายก็ไม่สูงเท่ากับการรักษา

บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn