-

นายแพทย์อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์

สาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ

วุฒิบัตร

สาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านกระดูกหลัง
วัน เวลา
อังคาร 08:00 - 20:00
พุธ 12:00 - 20:00
พฤหัสบดี 08:00 - 18:00
ศุกร์ 08:00 - 17:00
เสาร์ 08:00 - 18:00

นพ.อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์

แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วุฒิบัตรศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลราชวิถี
  • อนุสาขาศัลยกรรมกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลราชวิถี

"การผ่าตัดกระดูกสันหลังต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ เพราะกระดูกส่วนนี้จะมีเส้นประสาทอยู่โดยรอบจึงมีความละเอียดอ่อนบอบบาง ซึ่งถ้าเป็นกระดูกสันหลังส่วนบนๆ ก็จะมีเส้นประสาทส่วนกลางที่ทำงานสัมพันธ์กับสมอง ถือเป็นโครงสร้างหลักในการถ่ายทอดข้อมูลระหว่างสมองและระบบประสาท หากได้รับความเสียหายก็จะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของคนไข้ อย่างการผ่าตัดกระดูกส่วนคอก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปโดนเส้นประสาท เพราะอาจทำให้คนไข้เป็นอัมพาตได้ หรือถ้าไล่ลงมาในกระดูกสันหลังส่วนล่างก็ยังต้องระวัง เพราะก็มีผลต่ออวัยวะอื่นๆ เช่นเดียวกัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังจึงถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ"

นพ.อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์ เลือกศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ และยังศึกษาเพิ่มเติมในอนุสาขาศัลยกรรมกระดูกสันหลัง ด้วยเห็นว่า... ปัญหาที่เกิดกับกระดูกและข้อนั้นมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกระดูกหัก กระดูกแตกจากอุบัติเหตุ หรือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย อย่างกระดูกเสื่อม กระดูกผุ กระดูกพรุน หรือมีอาการปวด โดยเฉพาะโรคที่พบบ่อยคือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ที่มีผลมาจากหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือบาดเจ็บ ทำให้เกิดการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกมากดทับเส้นประสาท หรือกดเบียดตรงส่วนกลางของเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้คนไข้มีอาการปวดในระยะยาว การเป็นแพทย์ทางด้านนี้ก็จะช่วยรักษาและสร้างคุณภาพชีวิตของคนไข้ให้กลับมาดีขึ้นได้

วินิจฉัยอาการปวด ให้การรักษาแบบองค์รวม

หากพูดถึงในแง่ของอาการปวด คุณหมอจะให้ความรู้กับคนไข้ก่อนว่า การรักษาอาการปวดหลัง ไม่ใช่แค่การกินยา แต่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพราะการกินยานั้นเป็นการรักษาเหตุที่ปลายเหตุ คุณหมอจะพยายามให้คนไข้แก้ที่ต้นเหตุ ด้วยการดูแลคนไข้ให้แบบองค์รวมและยั่งยืน โดยเน้นให้คนไข้มองว่าการรักษาไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลเท่านั้น ต้องดูแลตัวเองที่บ้านเป็นหลัก เพราะถ้าคนไข้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ร่างกายให้ถูกต้อง มีความสม่ำเสมอในการบริหารร่างกาย ส่วนมากอาการก็จะดีขึ้น แม้อาจจะไม่ได้หายขาด 100% เพราะอาการปวดเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งคุณหมอก็จะเติมเต็มการรักษาในส่วนที่จำเป็นต่อไป

แพทย์ผู้ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก ด้วยข้อบ่งชี้ที่แน่ชัด

คนไข้ที่มาพบคุณหมอ มักมาด้วยอาการปวดจากการใช้ร่างกายในท่าซ้ำๆ นานๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม และอีกกลุ่มหนึ่งคือเกิดจากความเสื่อมตามอายุ ซึ่งคุณหมอก็จะทำการซักประวัติเพื่อหาความเสี่ยง ดูอาการ จุดที่เป็น ความหนักเบา หากจำเป็นก็จะส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์กระดูก ประเมินโครงสร้างกระดูกเพื่อประกอบการวินิจฉัย และเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้กินยา ฉีดยา หรือพิจารณาส่งตัวไปทำกายภาพบำบัด พร้อมกับแนะนำวิธีให้คนไข้สามารถกลับไปทำเองที่บ้านได้ด้วย

หากตรวจพบหรือรักษาไปแล้วระยะหนึ่ง แต่อาการของคนไข้ไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งคุณหมอก็จะอธิบายรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้คนไข้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยในทุกขั้นตอนคุณหมอจะทำการผ่าตัดให้คนไข้ด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันจะเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัดเปิดกระดูกเฉพาะจุดที่เล็กลงกว่าในอดีตมาก แผลจึงมีขนาดเล็ก คนไข้เจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

คุณหมอบอกว่า "ก่อนพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัด จะต้องตรวจประเมินให้รอบด้านก่อนว่าคนไข้มีปัญหาในส่วนใด ทำการรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วได้ผลแค่ไหน การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ MRI ก็เพื่อดูรายละเอียดของกระดูกสันหลังที่มีปัญหาว่ามีการกดทับเส้นประสาทจนทำให้มีการทำงานของระบบประสาทผิดปกติหรือไม่ โดยพิจารณาร่วมกับอาการปวดต่างๆ ว่าส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้เดินลำบาก ลุกนั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ด้วยหรือเปล่า เพราะคนที่กระดูกหลังเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเสื่อมใช่ว่าจะต้องปวดหลังทุกคน จึงต้องพิจารณาให้ดี ในกรณีที่คนไข้ประสบอุบัติเหตุมา เกิดการหัก เคลื่อน แตก ยุบของกระดูก ทำให้เสียแนวไขสันหลังก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งในการผ่าตัด หรือการเป็นโรคมะเร็งหรือมีการติดเชื้อก็เป็นข้อบ่งชี้ให้ต้องผ่าตัดได้เช่นกันด"

อาการหรือโรคที่เกี่ยวกับกระดูก กระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อนั้นมีทั้งที่รุนแรงน้อยและรุนแรงมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่คนไข้มีอาการปวดหลังร้าวลงขาร่วมกับมีอาการชาหรืออ่อนแรงควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หรือหากมีอาการปวดหลังร่วมกับมีไข้ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีการติดเชื้อ และถ้าปวดหลังแล้วยังมีเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ก็อาจเป็นวัณโรคกระดูก มีเนื้องอกหรือมะเร็งก็เป็นได้ และหากมีอาการปวดหลังร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติ อาจเป็นเพราะกระดูกกดทับเส้นประสาทเยอะจนมีผลกระทบต่อระบบขับถ่าย ซึ่งหากใครมีอาการต่างๆ ที่ว่ามานี้ นพ.อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์ ก็จะทำการตรวจ วินิจฉัยโรคให้แน่ชัด ก่อนทำการรักษาดูแลคนไข้ด้วยความรู้และความชำนาญอย่างดีที่สุด