-
06-พ.ค.-2561

การบริการ

  ทีมแพทย์และพยาบาลศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ (G.I. and Liver Center) มีหน้าที่ดูแลรักษา บริการให้คำปรึกษาปัญหาความผิดปกติ และตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน ตรวจรักษาด้วยการเอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ และตรวจด้วยการส่องกล้อง (G.I. Endoscopy) ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยอาการและสาเหตุของโรคจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร

อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย

- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- ท้องผูก
- อาเจียนเป็นเลือด
- อุจจาระเป็นเลือด

เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารและตับ

       เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารและตับอย่างมีประสิทธิภาพคือ การรักษาด้วยการส่องกล้อง ( G.I. Endoscopy) แพทย์จะวินิจฉัยตามลักษณะอาการของคนไข้ที่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวด จุก แสบท้องเป็นเวลานาน หรือเคยมีประวัติการรักษา ซึ่งแพทย์จะให้รับประทานยา หากอาการไม่ดีขึ้นจึงพิจารณารักษาด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการส่องกล้องเป็นลำดับต่อไป ซึ่งการส่องกล้องมีข้อดีคือ ทำให้แพทย์เห็นภาพจริงซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยโรค มีความแม่นยำ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ หรือเอ็กซเรย์ซึ่งจะเห็นภาพไม่ชัดเจนนัก

        การรักษาด้วยการส่องกล้องสร้างความกังวลให้คนไข้เป็นอย่างมาก เพราะความไม่รู้และความเข้าใจอย่างผิด ๆ ในอดีต รวมถึงความไม่มั่นใจในเทคโนโลยี และที่สำคัญคือคนไข้กลัวความเจ็บปวดที่จะเกิดมีขึ้นจากการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย สำหรับคนไข้ที่มีความกังวลต่อการรักษาด้วยวิธีส่องกล้อง ทีมแพทย์และพยาบาลจะมีวิธีการสื่อสารและอธิบายให้คนไข้เห็นถึงความสำคัญของการรักษา โดยเปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อดีของการรับการรักษา และผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากคนไข้ละเลยต่อการรักษา การพูดคุยกับคนไข้ในกรณีที่ไม่ยินยอมส่องกล้องเพราะกังวลถึงผลข้างเคียงและกลัวความเจ็บปวดนั้น พยาบาลผู้ดูแลจะลงทะเบียนคนไข้รายนั้นๆ ไว้เป็นกรณีพิเศษ และโทรศัพท์ติดต่อเพื่อติดตามซักถามอาการโดยตลอด ดังนั้นการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงกระบวนการและความสำคัญของการรักษาด้วยวิธีส่องกล้องให้คนไข้ได้ทราบ จึงเป็นวิธีการที่ทำให้คนไข้คลายความกังวลลงได้
%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%9a

              การรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้องมี 2 ประเภท คือส่องกระเพาะอาหาร (ส่องทางปาก) และส่องลำไส้ (ส่องทางก้น) ซึ่งการเตรียมตัวมีความแตกต่างกัน การส่องกล้องในส่วนกระเพาะอาหารจะมีการเตรียมตัวที่ง่ายกว่าการส่องกล้องในส่วนลำไส้ พยาบาลจะให้คนไข้งดน้ำ งดอาหารหลังเที่ยงคืน หรือประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนการส่องกล้องเป็นการเตรียมกระเพาะอาหารให้ว่าง ไม่ให้มีเศษอาหาร เพื่อให้ผลการตรวจมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การส่องกล้องในส่วนกระเพาะอาหารคนไข้สามารถรับการรักษาแบบ OPD CASE โดยคนไข้สามารถเข้ารับการส่องกล้องแล้วกลับบ้านได้เลย แต่ถ้าเป็นการส่องกล้องในส่วนลำไส้จะต้องมีการเตรียมลำไส้ ทีมแพทย์และพยาบาลจะให้คนไข้งดอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ เป็นเวลา 2 วันก่อนส่องกล้อง และกำหนดเมนูอาหารที่คนไข้จะต้องรับประทานอาหารอย่างไร เวลาใด รวมถึงให้คนไข้ทานยาระบาย เพื่อเตรียมลำไส้จนถ่ายเป็นน้ำใสก่อนที่จะส่องกล้อง ทำให้เมื่อส่องกล้องเข้าไปจะเห็นภาพของลำไส้ได้อย่างชัดเจน การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้องคนไข้สามารถเตรียมการเองได้ที่บ้าน หรือจะเข้าพักที่โรงพยาบาลเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมลำไส้ให้ก็ได้ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้าพักในโรงพยาบาล เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อน คนไข้ในช่วงอายุนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด  

กระบวนการการดูแลวางแผนประเมินค่าใช้จ่าย

                  ในส่วนของการดูแลวางแผนประเมินค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นความกังวลอย่างหนึ่งของคนไข้หลังจากทราบว่าต้องรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องที่คนไข้มีความเข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง พยาบาลจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและชี้แจงถึงค่าใช้จ่ายก่อนเข้ารับการรักษา โดยอธิบายถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการรักษาด้วยการส่องกล้อง ชี้แจงราคาและรายละเอียด รวมถึงสิทธิ์ของคนไข้ ซึ่งการรักษาด้วยการส่องกล้องทั้งในส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้จะมีค่าใช้จ่ายเป็นราคาเหมาจ่าย หากตรวจพบความผิดปกติหรือต้องมีการรักษาต่อในระยะยาว เช่น พบแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องรักษาต่อด้วยการฉีดยาทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่อไป พยาบาลก็จะชี้แจงให้ทราบอย่างเป็นขั้นตอน  



แพทย์หญิงวริศรา ศิริจรุญวงศ์

อายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ

นัดหมายแพทย์