-
“ไวรัส RSV” เชื้อโรคร้ายหน้าฝนที่อันตรายในเด็ก
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
08-พ.ค.-2566

“ไวรัส RSV” เชื้อโรคร้ายหน้าฝนที่อันตรายในเด็ก

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ไม่ได้มีเพียงแค่ลักษณะอากาศเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ฤดูฝนที่มีความชื้นในอากาศสูงมักมาพร้อมกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และหนึ่งในเชื้อโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝนก็คือ เชื้อไวรัส RSV ที่มักแพร่ระบาดในเด็กเล็ก จนทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจ วันนี้เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัส RSV เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้เท่าทันไวรัสตัวนี้มากยิ่งขึ้น

 


ทำความรู้จัก “เชื้อไวรัส RSV”

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งพบมากในเด็กเล็ก และในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคนี้อาจทำให้เด็กมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้ปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบได้ หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้หากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

โดยไวรัส RSV นี้มักพบการระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน หรืออาจยืดยาวไปจนถึงช่วงต้นฤดูหนาว สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้มีเชื้อ เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ โดยจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา หู ปาก และจมูก

 

สังเกตให้ชัด! อาการของไวรัส RSV

เราอาจสังเกตอาการเบื้องต้นได้ยากสักหน่อย เพราะอาการส่วนใหญ่มักคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ หรือมีน้ำมูก แต่จะมีบางอาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถแยก หรือสังเกตว่าลูกน้อยอาจติดเชื้อ RSV ได้ ดังนี้

  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศา
  • มีอาการไอหนัก และไอรุนแรง
  • มีเสมหะในลำคอ
  • มีอาการหอบเหนื่อย
  • หายใจลำบาก และมีเสียงหวีด
  • หายใจเร็ว หรือหายใจแรง
  • หายใจแล้วอกมีลักษณะบุ๋มลงไป

 


ความรุนแรงของเชื้อไวรัส RSV ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก

โดยทั่วไปแล้ว หากผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรงได้รับเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก และสามารถหายได้เอง แต่หากโรคนี้เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก มักพบว่ามีอาการที่รุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ หรือมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนตามมาได้ ในบางรายอาจทำให้เกิดการหยุดหายใจได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรงพอ โดยเฉพาะในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่เป็นโรคหัวใจ หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

อีกทั้งยังพบว่าแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อ RSV ในเด็กเล็ก มีเหตุมาจากพฤติกรรมของเด็กที่มีการจับของเล่น หรือสิ่งของต่างๆ แล้วชอบนำมือเข้าปาก ส่งผลให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายนั่นเอง

 

รักษาอย่างไร...เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV

ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่จะเน้นรักษาตามอาการ เช่น ทานยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ พ่นยา เคาะปอด หรือดูดเสมหะ เป็นต้น แต่หากรักษาตามอาการโดยเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องการหายใจ

 


ดูแลลูกน้อยง่ายๆ ให้ห่างไกลกับไวรัส RSV

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีทั้งยารักษา และวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดโอกาสที่ลูกน้อยจะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดังนี้

  • หมั่นล้างมือให้ตัวเองและลูกน้อยด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ หรือกินอาหาร
  • หมั่นทำความสะอาดของใช้ หรือของเล่นเด็ก
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
  • ดื่มน้ำให้มากๆ
  • พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • ออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด
  • สวมหน้ากากอนามัย
  • ทานนมแม่ แทนการทานนมผง

และหากพบว่าเด็กมีการติดเชื้อไวรัส RSV ควรแยกเด็กออกมาจากเด็กทั่วไปก่อน เพื่อรอให้หายดี จะได้ไม่แพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่นๆ

 

เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเกิดอันตรายจากไวรัส RSV คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และหากสังเกตว่าลูกน้อยมีอาการสุ่มเสี่ยง ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตได้อย่างมาก

บทความโดย

แพทย์หญิงกมลลักษณ์ อนันต์นิธิวุฒิ

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn