-
4 โรคยอดฮิตในเด็ก ที่มากับหน้าฝน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
19-ก.ค.-2565

4 โรคยอดฮิตในเด็ก ที่มากับหน้าฝน
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ลูกน้อยของเราก็มักเจ็บป่วยบ่อยขึ้น เนื่องจากฤดูนี้มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศค่อนข้างมากในแต่ละวัน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวหนาว และพอฝนตกอากาศก็จะเย็นลง มีความชื้นสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น การรู้เท่าทันโรคร้ายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมรับมือ และช่วยปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคที่มากับหน้าฝนได้ดีขึ้น


                1. โรคไข้หวัดใหญ่ : เป็นโรคที่พบได้ตลอดปีและจะพบบ่อยในฤดูฝน โดยไข้หวัดใหญ่ในเด็กอันตรายมากกว่าไข้หวัดธรรมดา ในแต่ละปีมีเด็กจำนวนมากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และบางคนมีอาการรุนแรงจนถึงกับเสียชีวิต โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันได้โดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม การสัมผัสถูกสารคัดหลั่งแล้วสัมผัสบริเวณใบหน้าซึ่งมีช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย แถมช่วงหน้าฝนก็เป็นช่วงที่เด็กเล็กกำลังเปิดเทอม ได้ใกล้ชิด ได้เล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน ทำให้อาจได้รับเชื้อโรคจากเพื่อนๆ ได้

                อาการของโรค : อาการจะคล้ายกับโรคไข้หวัดธรรมดาแต่จะรุนแรงมากกว่า โดยจะมีไข้สูงกว่า หรือมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น คัดจมูก ไอ โดยส่วนมากจะไอแห้ง เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ได้ง่าย ซึ่งหากอาการรุนแรงก็ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้


                การป้องกันโรค : ควรใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเด็กสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งในเด็กที่อายุ 6 เดือนถึง 9 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน จะให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นจึงเป็นปีละ 1 เข็ม เด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้าน งดไปโรงเรียน เพื่อลดการแพร่เชื้อ


                2. โรคไข้เลือดออก : ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีปีละหลายหมื่นคน โรคนี้มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่มักพบในเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ โดยมีสาเหตุมาจากช่วงหน้าฝนมักมีแหล่งน้ำขัง ซึ่งแหล่งน้ำนี้จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และยุงลายก็เป็นพาหะในการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก


                อาการของโรค : มักจะมีไข้สูงลอย (39-40 องศาเซลเซียส) 3-7 วัน หน้าแดง มีผื่นแดง ไม่ค่อยไอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีภาวะเลือดออกง่าย หากมีอาการรุนแรงมักจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ไม่กินอาหารร่วมด้วย ถ้าเกิดในเด็กเล็กอาจมีไข้สูงและชักได้


                การป้องกันโรค : สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด ติดมุ้งลวดประตูหน้าต่าง ใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว และกำจัดแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แต่แนะนำให้ฉีดเฉพาะรายที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน


                3. โรคมือเท้าปาก : เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในทุกฤดู แต่จะพบมากในหน้าฝน ติดต่อได้ทั้งจากการไอ จาม ทางน้ำลาย หรืออุจจาระ และการสัมผัสทางอ้อม เช่น ผ่านสิ่งของที่จับร่วมกัน จะพบมากในเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี แต่ก็เกิดในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน


                อาการของโรค : เด็กจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2-3 วันจะเกิดตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปากหรือกระพุ้งแก้ม และก้น อีกทั้งยังเกิดแผลร้อนในหลายแผลในปาก ทำให้เด็กไม่อยากกินอาหารหรือน้ำ เนื่องจากเจ็บแผลบริเวณปาก อาการจะดีขึ้นใน 3-5 วันถัดมา หลังจากนั้นทุกอย่างก็จะดีขึ้นและมักจะหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้


                การป้องกันโรค : หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย และแยกใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือ หรือทำความสะอาดของเล่นที่เด็กจับบ่อยๆ โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน Enterovirus 71 ซึ่งเป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก จากไวรัสที่มีอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคนี้ แต่เนื่องจากวัคซีนมีราคาสูงจึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน


                4. RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus : เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงในเด็กเล็ก พบการเสียชีวิตสูงในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน และทารกที่มีโรคประจำตัว ไวรัส RSV ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือการสัมผัส ในบางครั้งไวรัส RSV อาจก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นทำให้ปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบได้


                อาการของโรค : เนื่องจากอาการของไวรัส RSV จะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่มักแยกความต่างระหว่าง 2 โรคนี้ไม่ค่อยออก แต่ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้ดูได้จากอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก และไอหนักมากๆ ให้สันนิษฐานว่าอาจเป็นไวรัส RSV ได้


                การป้องกันโรค : ปัจจุบันยังไม่มียารักษาการติดเชื้อไวรัส RSV ที่จำเพาะ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จำเป็นต้องอาศัยการป้องกันการติดเชื้อ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ  และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด


โรคติดเชื้อ เราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ด้วยการไม่ไปในสถานที่ที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ หมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยและสิ่งของต่างๆ ในบ้าน พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ และเมื่อกลับมาถึงบ้านให้รีบอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเครื่องแต่งหาย และทำตัวให้แห้งไว้เสมอ

บทความโดย

แพทย์หญิงสุวรรณา บัวทองศรี

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn