-
ภาวะหนังตาตก...หากปล่อยไว้อาจสูญเสียการมองเห็น!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
20-ก.พ.-2567

ภาวะหนังตาตก...หากปล่อยไว้อาจสูญเสียการมองเห็น!

สิ่งที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น คงหนีไม่พ้นผิวหนังที่เริ่มหย่อนคล้อยตามกาลเวลา ซึ่งสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากจากผิวหนังที่เริ่มหย่อนคล้อยนั่นคือ หนังตาหรือเปลือกตา และโรคที่อาจตามมาเรียกว่า “ภาวะหนังตาตก” ที่อาจสร้างผลกระทบที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 


รู้จักกับ “ภาวะหนังตาตก”

ภาวะหนังตาตก (Ptosis) เป็นภาวะที่หนังตาหรือเปลือกตาบนมีความหย่อนหรือยืดตัวมากเกินไป ทำให้หนังตาบนตกลงมาต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็น โดยอาจมีอาการเพียงข้างเดียวหรือเกิดขึ้นทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งในบางรายอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด แต่บางรายอาจเป็นเมื่ออายุมากขึ้นหรืออาจเป็นผลจากโรคอื่นๆ

 

สาเหตุของภาวะหนังตาตก

หนังตาตกตั้งแต่กำเนิด : เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหนังตาทำงานผิดปกติหรือกล้ามเนื้อตาพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่เกิด ส่งผลให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา เช่น ลืมตาได้ไม่เต็มที่ ตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือไม่สามารถเปิดเปลือกตาเพื่อมองเห็นได้ เมื่อหนังตาตกลงมาบดบังการมองเห็น ทำให้ดวงตาข้างนั้นของเด็กไม่ได้เกิดการใช้งาน ดวงตาข้างนั้นจึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อาจส่งผลให้เกิดโรคตาขี้เกียจ (Amblyopia) ในที่สุด อีกทั้งภาวะหนังตาตกตั้งแต่กำเนิดยังสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมอีกด้วย

หนังตาตกเมื่ออายุมากขึ้น : เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อตาที่ทำหน้าที่ยกเปลือกตาเกิดการยืดตัว เนื่องจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน โดยอาจสังเกตุได้จากดวงตาที่เล็กลงจากหนังตาที่ตกลงมาบดบังดวงตา อย่างไรก็ตามการที่หนังตาตกไม่ได้แสดงถึงภาวะที่อันตราย หากภาวะนี้ยังไม่ได้ส่งผลต่อการมองเห็นในชีวิตประจำวัน แต่หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการรบกวนการมองเห็นของเราในอนาคตได้

หนังตาตกด้วยสาเหตุอื่นๆ : เกิดความผิดปกติของระบบเส้นประสาท มีก้อนเนื้อโตหรือสิ่งผิดปกติในดวงตา กล้ามเนื้อตายืดหรือบาดเจ็บ หนังตาหรือเปลือกตาฉีกขาด เกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณดวงตา เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดดวงตาหรือทำศัลยกรรมบริเวณรอบดวงตา หรือเกิดโรคทางระบบประสาท เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจทำให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ทำให้หนังตาตก

 

อาการไหนเข้าข่ายภาวะหนังตาตก

  • เปลือกตาบนลงมาต่ำมากกว่าปกติ ทำให้การมองเห็นลดลง
  • มีอาการแสบตา เคืองตา หรือรู้สึกหนักที่เปลือกตา
  • ดวงตาลืมได้ไม่เต็มตา ทำให้มองเห็นตาดำน้อยลง
  • ลืมตาลำบาก ต้องเงยหน้าเพื่อให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น

หากสังเกตพบว่าตนหรือคนรอบข้างมีอาการดังดล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะหนังตาตก โดยอาการเหล่านี้สามารถสังเกตุได้ด้วยตนเองโดยการมองกระจกให้ตามองตรงและสังเกตเปลือกตาว่ามีอาการข้าง

ต้น หรือมีความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่

 


ภาวะหนังตาตก อย่าปล่อยไว้ รักษาได้

การรักษาภาวะหนังตาตก จะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

การใช้ยารักษาตามอาการ : เป็นการรักษาและติดตามอาการ ในกรณีที่มีอาการไม่มาก หรือไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแล

การรักษาด้วยการผ่าตัด : เป็นการผ่าตัดเพื่อดึงกล้ามเนื้อส่วนเปลือกตาขึ้นมา หรือทำให้กล้ามเนื้อเปลือกตาหดแน่นขึ้น ส่งผลให้ลืมตาได้มากขึ้น สามารถมองเห็นได้มากขึ้นจนใกล้เคียงปกติมากที่สุด หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

 

โดยส่วนใหญ่ภาวะหนังตาตกจะไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง ดังนั้นการป้องกันเดียวที่สามารถทำได้จึงเป็นการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปจนถึงขั้นรุนแรง

 


บทความโดย
นายแพทย์
วรัญ ว่องศิลป์วัฒนา

แพทย์ประจำสาขาจักษุทั่วไป 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนกหู ตา คอ จมูก
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2540-2541
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn