-
รู้หรือไม่? ซื้อยามารับประทานเองบ่อยๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคไตได้
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
03-เม.ย.-2567

รู้หรือไม่? ซื้อยามารับประทานเองบ่อยๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคไตได้

              การรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานใช่ว่าจะเป็นการรักษาระยะยาว แต่กลับเป็นการสร้างสารพิษที่มีผลต่อการทำงานของระบบไตโดยไม่รู้ตัว โดยคนส่วนใหญ่ที่พบว่าตนเองเป็นโรคไต มักพบว่าอยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว ซึ่งหนึ่งในสาเหตุนั้นมาจากการรับประทานยาที่ไม่ถูกต้องและรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยที่ไม่รู้ว่าอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้

 

“ไต” อวัยวะที่ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

หน้าที่ของไต คือการกำจัดของเสียและสารต่างๆ ที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกาย โดยการขับถ่ายมากับปัสสาวะ ซึ่งหนึ่งในสารที่ไตต้องทำหน้าที่กำจัดคือ ยาและสารต่างๆ จึงเป็นเหตุผลให้ไตมีความเสี่ยงสูงที่อาจได้รับอันตรายจากพิษของยาและสารเคมีบางชนิดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความบกพร่องของไตหรือจำเป็นต้องทานยาที่มีผลต่อไตโดยตรงเป็นระยะเวลานาน

 


ใช้ยาอย่างไรให้ไม่เป็นภัยต่อไต

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับประทานยาก่อนและหลังอาหารให้ถูกวิธี

ยาก่อนอาหาร : ควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที โดยควรรับประทานในขณะที่ท้องว่าง หากลืมรับประทานควรข้ามยามื้อที่ลืมไป

ยาหลังอาหาร : ควรรับประทานยาหลังมื้ออาหาร 15 - 30 นาที (ในส่วนของยาที่ต้องทานหลังอาหารทันที ให้รับประทานทันทีหลังจากที่ทานอาหารเสร็จ)

ยาก่อนนอน : ควรรับประทานยาก่อนเข้านอน 15 - 30 นาที

**ยาบางประเภทอาจมีวิธีการรับประทานยาที่นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ข้างต้น เนื่องจากยาอาจมีการออกฤทธิ์พิเศษหรือมีผลข้างเคียงอื่นๆ

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาซ้ำซ้อน หรือยาที่มีฤทธิ์คล้ายกัน นอกจากจะไม่ช่วยเพิ่มผลการรักษาแล้ว ยังเพิ่มผลเสียต่อการทำงานของไต และก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาชุด ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนระบุตัวยา เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตรายและเป็นพิษต่อการทำงานของไตได้
  3. หากมีการเข้ารับการบริการทางแพทย์แล้วมียาที่ใช้อยู่ประจำ ให้นำยานั้นมาโรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับยาที่ใช้เป็นประจำ

 


ยาประเภทไหนบ้างที่ควรระวัง!?

  • กลุ่มยา NSAIDs หรือยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และอื่นๆ การรับประทานยาชนิดนี้มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดในไต และทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
  • ยาปฏิชีวนะบางชนิด โดยยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานหรือใช้ขนาดยาเกินกำหนด
  • ยาฆ่าเชื้อหรือยาต้านไวรัสบางชนิด บางยาต้านไวรัสอาจมีผลกระทบต่อไต โดยเฉพาะเมื่อใช้ในปริมาณมากหรือในระยะเวลานาน รวมถึงไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งคัด เช่น ดื่มน้ำตามเยอะๆ หลังรับประทานยา
  • ยาต้านเกร็งกล้ามเนื้อหัวใจ บางชนิดของยาต้านเกร็งกล้ามเนื้อหัวใจอาจมีผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดในไต

 

การรับประทานยาที่มีผลต่อการทำงานของระบบไตที่ทำให้ไตทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการได้รับยาเกินขนาด อาจส่งผลให้การทำงานของไตมีความผิดปกติ ซึ่งอันตรายที่จะตามมาอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้นได้โดยที่เราเป็นผู้นำสารพิษเข้าสู่ร่างกายเอง

              ดังนั้นการรับประทานยาทุกชนิดควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เภสัชกรอย่างเคร่งคัด เพื่อได้รับประสิทธิภาพของฤทธิ์ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อร่างกาย และที่สำคัญไม่ควรซื้อยามาทานเองเด็ดขาด หากพบอาการผิดปกติจากการใช้ยาควรหยุดยาและรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn