-
5 โรคเด็ก มาแรง! ช่วงเปิดเทอม
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
20-พ.ค.-2568
5 โรคเด็ก มาแรง! ช่วงเปิดเทอม

          เมื่อช่วงเปิดเทอมมาถึง เด็กๆ ต้องกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่มีการรวมตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน สนามเด็กเล่น โรงอาหาร และพื้นที่แออัดอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่แพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

5 โรค มาแรง ที่มักระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียนช่วงเปิดเทอมจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม รู้ก่อนป้องกันก่อน เพื่อดูแลลูกรักให้แข็งแรงและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ในทุกวัน!

1. โรคมือ เท้า ปาก
         
จัดเป็นโรคในเด็กที่พบได้บ่อย เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส พบมากในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และมีตุ่มพองหรือแผลในปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยปกติแล้ว โรคมือ เท้า ปาก จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่ในเด็กบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ติดต่อได้ทาง น้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพอง อุจจาระ และสิ่งของที่เด็กใช้ร่วมกัน เช่น ของเล่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

          ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71)  เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 5 ปี โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน



2. โควิด-19
          
เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 แม้จะเริ่มระบาดมาหลายปีแล้ว แต่โควิด-19 ก็ยังคงอยู่และมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่อยู่เป็นระยะ ปัจจุบันในประเทศไทย ยังคงมีผู้ป่วย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง

อาการของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอแห้ง เจ็บคอ คัดจมูกปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้ต่ำ หรือสูญเสียการรับรู้รสหรือกลิ่น

          แต่อย่างไรก็ตาม ในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างเด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปอดอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังในเด็ก

          หนึ่งในภาระแทรกซ้อนที่สำคัญคือ กลุ่มอาการอักเสบในหลายระบบของร่างกาย  (MIS-C) ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อ 2-8 สัปดาห์ โดยจะมีอาการไข้ ร่วมกับอาการอื่น อย่างน้อย 2 ระบบ เช่น

  • ระบบทางเดินอาหาร (ปวดท้อง, ท้องเสีย, อาเจียน)
  • ระบบผิวหนังและเยื่อบุ (ผื่น, ตาแดง, มือเท้าบวมแดง)
  • ระบบหัวใจ (เจ็บหน้าอก, ความดันโลหิตต่ำ)
  • ระบบประสาท หรือระบบอื่นๆ




3. ไข้หวัดใหญ่
         
อีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยในกลุ่มเด็กนักเรียน เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส  Influenza ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ และเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ตลอดเวลา มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ภาวะชักจากไข้สูง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

          ไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคในเด็กที่สามารถป้องกันได้ หากมีการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ การฉีดวัคซีนและรักษาสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

4. 
RSV (Respiratory Syncytial Virus)

          เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบมากในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางสารคัดหลั่งต่างๆ  เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เด็กที่ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการภายใน 4–6 วันหลังสัมผัสเชื้อ โดยมีอาการที่คล้ายไข้หวัดในช่วงแรก ได้แก่ ไข้ ไอแห้ง น้ำมูกไหล คัดจมูก เบื่ออาหาร และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปัญหาด้านการหายใจ หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต หากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

          RSV เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Nirsevimab เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV โดยแนะนำให้ฉีดก่อนฤดูกาลระบาดของโรค RSV (ช่วงเดือน มิ.ย. - ต.ค.)

  • ฤดูกาลแรก: แนะนำให้ฉีดในทารกอายุน้อยกว่า 8 เดือน ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และทารกอายุ 12 เดือน ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV อย่างรุนแรง
  • ฤดูกาลที่ 2: แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า 19 เดือน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงจาก RSV




5. สุกใส 

          โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-Zoster ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านทางการหายใจ (ละอองฝอย) หรือการสัมผัสน้ำจากตุ่มใสของผู้ป่วย จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นแดง ตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นตามตัวและใบหน้าโดยปกติแล้วตุ่มมักจะหายภายใน 7-10 วัน แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

          โรคสุกใส สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แนะนำให้ฉีดวัคซีนสุกใสเข็มแรกที่อายุ 12 – 15 เดือน และกระตุ้นเข็ม 2 ที่อายุ 18 เดือน – 4 ปี

 

          ช่วงเปิดเทอมคือช่วงที่เด็กๆ เสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ ได้ง่าย โรคในเด็กหลายชนิดสามารถแพร่กระจายได้ง่ายในสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งโรคที่พบบ่อยในเด็กทั้ง5 โรคนี้ มีแนวทางการป้องกันที่สำคัญ ได้แก่ ฉีดวัคซีนตามวัย รักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ ทั้งการล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัยในที่แออัด สังเกตอาการผิดปกติ และพบแพทย์ทันทีหากมีอาการไม่สบาย การรู้เท่าทันอาการเบื้องต้น และไม่ละเลยการดูแลรักษา จะช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

“เพราะสุขภาพที่ดีคือพื้นฐานของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมเรียนรู้โลกอย่างปลอดภัยในทุกก้าว”