พัฒนาการของลูกน้อยที่ควรรู้...เพื่อการเติบโตที่สมบูรณ์
พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยไม่เพียงแค่สะท้อนถึงการเติบโตทางกายภาพ แต่ยังเกี่ยวพันกับการพัฒนาสมอง อารมณ์ และทักษะทางสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญของชีวิต การเข้าใจความต้องการและธรรมชาติในแต่ละช่วงวัย ช่วยให้พ่อแม่พัฒนาลูกได้อย่างเหมาะสมเต็มศักยภาพ และสร้างเส้นทางการเติบโตที่สมบูรณ์สำหรับลูกน้อย

วัยแรกเกิด - 1 ปี
ช่วงวัยนี้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว และความสัมพันธ์แรกของลูกน้อยกับโลกภายนอก
พัฒนาการที่สำคัญ
ประสาทสัมผัส :
- การมองเห็น : ในเดือนแรก ลูกจะมองเห็นระยะใกล้และสนใจใบหน้าของคนมากที่สุด
- การได้ยิน : ลูกสามารถจดจำเสียงของแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และตอบสนองต่อเสียงเพลงหรือเสียงพูด
- การสัมผัส : การลูบสัมผัสร่างกายหรือกอดช่วยเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัย
การเคลื่อนไหว :
- ช่วงแรก ลูกจะเริ่มยกศีรษะและพลิกตัว
- เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จะเริ่มนั่งเองได้ และคลานในช่วง 9-12 เดือน
อารมณ์และความผูกพัน :
- ลูกจะแสดงความไว้วางใจต่อผู้ดูแลผ่านการยิ้มและการตอบสนองเมื่อได้รับการกอด
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่
- กอดและอุ้มลูกบ่อยๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจ
- กระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยการพูดคุย ร้องเพลง หรือเล่นของเล่นที่มีสีสันสดใส
- หมั่นสังเกตพัฒนาการ เช่น มองหน้าสบตา การยิ้ม การจับสิ่งของ การเริ่มคลาน และเข้าใจภาษาง่ายๆ ได้

วัย 1-3 ปี
ในวัยนี้ ลูกจะเริ่มเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เริ่มพูดคำง่ายๆ และเรียนรู้การแสดงออก ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสทองในการปลูกฝังพฤติกรรมและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์
พัฒนาการที่สำคัญ
การเคลื่อนไหว :
- เริ่มเดินเมื่ออายุประมาณ 12-15 เดือน และพัฒนาสู่การวิ่ง ปีนป่าย และกระโดด
- การใช้มือเริ่มประณีต เช่น การจับดินสอหรือช้อน
การพัฒนาภาษา :
- เริ่มพูดคำศัพท์ง่ายๆ และเรียนรู้คำใหม่อย่างรวดเร็ว
- ช่วงอายุ 2 ปี เด็กสามารถพูดประโยคสั้นๆ และแสดงความต้องการของตัวเอง
การพัฒนาทางสังคม :
- เริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เช่น การพูดว่า "ไม่" หรือแสดงอารมณ์เมื่อไม่พอใจ
- เรียนรู้การเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่
- ใช้คำพูดง่ายๆ พร้อมท่าทางช่วยอธิบาย เพื่อกระตุ้นการพัฒนาภาษา
- ส่งเสริมการเล่นเพื่อเรียนรู้ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป (ก่อนอายุ 2 ปี ไม่แนะนำการใช้จอ)

วัย 3-5 ปี
เด็กวัยนี้เริ่มเข้าสังคมและเรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความมั่นใจและความสามารถในการเคลื่อนไหวจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
พัฒนาการที่สำคัญ
การพัฒนาทักษะกายภาพ :
- ลูกจะมีการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว เช่น การปั่นจักรยานสามล้อหรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง
- เริ่มเรียนรู้การควบคุมมือ เช่น การตัดกระดาษหรือระบายสี
การพัฒนาทางสังคม :
- เริ่มเล่นกับเพื่อนและเรียนรู้การแบ่งปัน รู้จักการรอคอย
- เข้าใจบทบาทและความสัมพันธ์ในครอบครัว
จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ :
- เด็กวัยนี้จะเล่นบทบาทสมมติที่ซับซ้อนมากขึ้น มีเรื่องราวได้ เช่น เป็นหมอ ครู หรือฮีโร่
- ชอบฟังนิทานและเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่
- สนับสนุนให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม เช่น เล่นกับเพื่อนหรือเข้าชั้นเรียนเสริมทักษะ
- ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น การใส่เสื้อผ้าหรือเก็บของเล่น
- จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูกได้สำรวจและเล่นอย่างอิสระ

วัย 6-12 ปี
วัยนี้เป็นช่วงที่ลูกเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และสร้างรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ เมื่อเข้าสู่วัยเรียน เด็กจะเริ่มพัฒนาทักษะที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งการแก้ปัญหา การอ่านเขียน และความคิดเชิงเหตุผล
พัฒนาการที่สำคัญ
สติปัญญาและการเรียนรู้ :
- ลูกจะพัฒนาทักษะการคิดเชิงเหตุผลและการแก้ปัญหา
- เรียนรู้เรื่องต่างๆ ในโรงเรียน เช่น การคำนวณและการเขียน
ทักษะทางสังคม :
- ลูกจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน เริ่มมีกลุ่มเพื่อนที่สนิท หรือมีเพื่อนที่ชอบกิจกรรมที่เหมือนกัน
- เรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง
การพัฒนาทางอารมณ์ :
- เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและเริ่มควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
- มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่
- จัดหาหนังสือหรือกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นความสนใจเฉพาะตัวของลูก
- สร้างนิสัยการเรียนรู้ที่ดี เช่น การทำการบ้านและการตั้งเป้าหมาย
- ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
- ฝึกระเบียบวินัย และการจัดตารางเวลากิจกรรมของตนเอง
- ควบคุมการใช้สื่ออิเลกทรอนิกส์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน
การเข้าใจพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยช่วยให้พ่อแม่สามารถสร้างรากฐานที่มั่นคงทั้งกาย ใจ และสมองสำหรับลูกน้อย ทุกการดูแลที่พ่อแม่มอบให้ในวันนี้ คือการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับลูกในวันหน้า
บทความโดย
แพทย์หญิงภาวิณี ธีรการุณวงศ์
แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn
(1).png)