-
ไข้หวัดใหญ่ เรื่องใหญ่ที่ไม่ใหม่ในผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
19-ธ.ค.-2567

ไข้หวัดใหญ่ เรื่องใหญ่ที่ไม่ใหม่ในผู้สูงอายุ

เมื่อพูดถึงโรคไข้หวัดใหญ่ หลายคนอาจนึกถึงอาการที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่น ไข้ขึ้น น้ำมูกไหล หรือไอ แต่สำหรับผู้สูงอายุ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และในบางกรณีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ บทความนี้จะพามาดูกันว่าเพราะเหตุใดไข้หวัดใหญ่จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้สูงอายุ และเราจะป้องกันได้อย่างไร

 


ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ไข้ธรรมดา

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไปหรือวัยรุ่นหนุ่มสาวด้วย 2 เหตุผลสำคัญ ได้แก่

  1. ระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลง : เมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำงานช้าลง ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่อาจดูธรรมดาสำหรับคนทั่วไป อาจกลายเป็นภัยร้ายแรงที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หรือโรคหัวใจล้มเหลว
  2. โรคประจำตัวเพิ่มความเสี่ยง : โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคปอดเรื้อรัง ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

 

อาการไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ

อาการของไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุมักถูกละเลยและถูกมองข้ามว่าเป็นอาการปกติของวัยนี้ เนื่องจากในผู้สูงอายุ อาการไข้หวัดใหญ่อาจไม่เหมือนกับคนวัยอื่น เช่น

  • ไข้ต่ำหรือไม่มีไข้เลย
  • อ่อนเพลียมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
  • สับสนหรือเกิดภาวะหลงลืม (Delirium)

การสังเกตอาการเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาหารที่แสดงเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุได้ หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

 

ภาวะแทรกซ้อน...อันตรายที่ซ่อนอยู่

สำหรับผู้สูงอายุ ไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่แค่โรคชั่วคราว เพราะสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น

  • ปอดอักเสบ (Pneumonia) : เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว : ไวรัสจากไขหวัดใหญ่สามารถกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในผู้สูงอายุ
  • การกำเริบของโรคประจำตัว : ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคปอดเรื้อรัง แย่ลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกายทรุดตัวลงโดยไม่ทันตั้งตัว

 


ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ทำไมถึงรุนแรงกว่า?

ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุรุนแรงกว่าวัยอื่นเพราะร่างกายของพวกเขาไม่มี "เกราะป้องกัน" ที่แข็งแรงพอ และไวรัสไข้หวัดใหญ่เองยังมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เคยมีต่อไวรัสในอดีตไม่สามารถต้านทานไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้

 

“วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่” วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดในผู้สูงอายุ

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (High Dose) การฉีดวัคซีนประจำปีเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุที่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับภูมิคุ้มกันในวัยนี้ เพราะสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าอาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ (วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด High Dose ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ด้วยคุณสมบัติเฉพาะที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป)

นอกจากนี้ การหมั่นรักษาสุขอนามัยและดูแลสุขภาพโดยรวมก็เป็นส่วนช่วยสำคัญให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เช่น ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากในที่แออัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้เหมาะสมกับช่วงวัย

 

“อย่ารอให้ไข้หวัดใหญ่เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตผู้สูงอายุ” ไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่โรคที่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เราทุกคนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ด้วยการป้องกันอย่างเหมาะสม และดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

 

 

บทความโดย
นายแพทย์ณัฐวุฒิ สุมาลัย 
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn