เบาหวานไม่ได้เบา...โรคเงียบใกล้ตัว ที่ควรรู้จักก่อนจะสายเกินไป
ในปัจจุบัน การบริโภคน้ำตาลและอาหารหวานกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มรสหวาน หรือขนมที่อุดมไปด้วยน้ำตาล ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น แต่ถึงอย่างไร หากเรามีความรู้และเข้าใจถึงโรคเบาหวาน รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ก็สามารถรู้ทันโรคนี้ก่อนที่มันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างถาวร
เบาหวานคืออะไร? ทำไมถึงต้องใส่ใจ
โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการผลิตอินซูลินที่ไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการปล่อยให้โรคเบาหวานดำเนินโรคไปอย่างเงียบๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ ไตวาย ปัญหาการมองเห็น หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นต้น
ทำไมปัจจุบันคนถึงเสี่ยงเป็นเบาหวานมากขึ้น?
ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชาไข่มุก น้ำอัดลม หรือขนมขบเคี้ยวที่มีน้ำตาลซ่อนอยู่ ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมากโดยไม่ปรับสมดุลกับการออกกำลังกาย ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานอย่างมาก
นอกจากนี้ การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันยังส่งผลให้หลายคนเลือกทานอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารแปรรูปที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูงมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน แต่ยังทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเบาหวานประเภทที่ 2
ประเภทของเบาหวาน
- เบาหวานประเภทที่ 1 : เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เอง มักเกิดในเด็กและวัยรุ่น ทำให้จำเป็นต้องได้รับการฉีดอินซูลินตลอดชีวิต
- เบาหวานประเภทที่ 2 : เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างสมดุล มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือไม่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ : เป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ แม้จะหายไปหลังคลอด แต่หากไม่ได้รับการดูแลสามารถส่งผลต่อสุขภาพของแม่และลูกในระยะยาว
- เบาหวานที่มาจากเหตุจำเพาะ : พันธุกรรม, โรคตับอ่อน หรือโรคทางต่อมไร้ท่อ
ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน...ไม่ได้มีแค่พฤติกรรม
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานไม่ได้มีเพียงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แต่ยังรวมไปถึงปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ได้แก่
- พันธุกรรม : หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเบาหวาน ความเสี่ยงที่บุคคลในครอบครัวจะเป็นโรคนี้จะสูงขึ้น
- อายุที่เพิ่มขึ้น : คนที่มีอายุมากกว่า 45 ปี มักมีความเสี่ยงสูงในการเกิดเบาหวานมากกว่าคนที่ยังอายุน้อย
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน : ทั้งการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย และน้ำหนักตัวที่มากเกินไป พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2
- ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ : ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนที่ขัดขวางการทำงานของอินซูลิน ซึ่งส่งผลให้การทำงานของอินซูลินผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง : ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคความดันโลหิตหรือไขมันในเลือดสูง การทำงานของร่างกายมักจะหนักกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้
แม้เบาหวานจะเป็นโรคเงียบ...แต่ก็มีสัญญาณเตือน!
บางคนอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะเบาหวานจนกระทั่งได้รับการตรวจวินิจฉัย หรือเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายอาจเจออาการที่รุนแรง เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการชัดเจน แต่ถึงอย่างไรโรคเบาหวานก็มีสัญญาณเตือนที่ควรระวัง
- ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก : เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ไตพยายามขับปัสสาวะออกมาบ่อยและมากขึ้น
- กระหายน้ำมากผิดปกติ : เมื่อร่างกายขับน้ำตาลทางปัสสาวะมาก ร่างกายก็จะสูญเสียน้ำมาก ทำให้เกิดความกระหายมากกว่าปกติ
- กินเยอะ แต่น้ำหนักลดลง : ถึงแม้จะกินมากแต่ร่างกายยังขาดพลังงานเพราะไม่สามารถนำกลูโคสไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ
- มองเห็นไม่ชัด : เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เลนส์ตาเกิดการบวม ทำให้การมองเห็นภาพพร่ามัว
- แผลหายช้า : ผู้ที่เป็นเบาหวาน เมื่อได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผล จะพบว่าแผลมีการหายช้ากว่าปกติ เนื่องจากการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดีทำให้แผลสมานตัวได้ช้ากว่าปกติ
หากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ อาจแสดงว่าคุณกำลังเข้าข่ายหรือมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยโดยละเอียด
“เบาหวาน” ปล่อยไว้...ภาวะแทรกซ้อนตามมาแน่!
ในผู้ที่เป็นเบาหวานทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง เบาหวานสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด : ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจวายและหลอดเลือดตีบ
- ไตวาย : เบาหวานสามารถทำลายไตจนเกิดภาวะไตวายได้
- ตาบอด : เส้นเลือดในดวงตาเสียหาย ทำให้สูญเสียการมองเห็น
- ปัญหาเส้นประสาท : ทำให้เกิดอาการชา เจ็บ หรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณมือและเท้า
“เบาหวาน” ดูแลและป้องกันได้! เริ่มต้นจากตัวคุณเอง
วิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้หลายคนเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก : พยายามรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงของเบาหวานประเภทที่ 2 เพราะการลดน้ำหนักเพียง 5-10% ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลินและลดน้ำตาลในเลือด แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม : หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ชาไข่มุก และขนมหวาน รวมถึงลดคาร์โบไฮเดรตแปรรูปและไขมันอิ่มตัว และให้เลือกรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ
- จัดการกับความเครียด : ลดภาวะเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ การทำโยคะ หรือการนอนหลับให้เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ : การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอช่วยให้ทราบว่าการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีเพียงใด และยังทราบถึงสถานะสุขภาพและสามารถป้องกันโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ในยุคที่การบริโภคน้ำตาลและอาหารแปรรูปสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องตระหนักถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวานและหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ “เบาหวานเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตได้มากกว่าที่คิด” แต่ก็ไม่ใช่โรคที่ไม่สามารถจัดการได้ การรู้เท่าทันโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันสามารถลดความเสี่ยงและช่วยให้สุขภาพดี ปราศจากโรคเบาหวานในระยะยาว
บทความโดย
นายแพทย์ณัฐวุฒิ สุมาลัย
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn