-
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ปล่อยไว้...อันตรายถึงชีวิต!
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
12-ก.ค.-2567

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ปล่อยไว้...อันตรายถึงชีวิต!

เคยสงสัยกันหรือไม่? กับคำว่า “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร มีอันตรายมากแค่ไหน หากติดเชื้อไปแล้วมีวิธีรักษาให้หายหรือไม่ วันนี้ทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการมีคำตอบที่จะคลายความสงสัยให้กับทุกคน

 


ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร?

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) เป็นภาวะที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จนทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อและทำให้อวัยวะสําคัญๆ เริ่มทํางานผิดปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อที่อยู่ในร่างกายจะลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ส่งผลให้ในกระแสเลือดปะปนไปด้วยเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราต่างๆ โดยเลือดของเราถูกส่งไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เชื้อกระจายไปทั่วร่างกาย จนทำให้อวัยวะต่างๆ เกิดการอักเสบติดเชื้อและล้มเหลว ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและเสียชีวิตในที่สุด

 

การติดเชื้อโรค...ต้นเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

             ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มีต้นเหตุมาจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่ร่างกายในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผลจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น การติดเชื้อในปอด (ปอดบวม) การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในช่องท้อง การติดเชื้อที่ผิวหนัง และการติดเชื้อจากการใส่สายสวนหลอดเลือดดำ สายฟอกไต และสายสวนปัสสาวะ

 

กลุ่มเสี่ยงไหน? เข้าข่ายติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย

ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มักมีแนวโน้มต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป หรือเมื่อติดเชื้อแล้วเชื้อนั้นก็จะสามารถลุกลามได้ไว

  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ทารกแรกเกิด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคปอดเรื้อรัง
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงต่ำ เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการใส่ท่อหายใจหรือใส่สายสวนทางหลอดเลือดดํา

 


หากติดเชื้อในกระแสเลือด สังเกตอาการได้ดังนี้...

  • มีไข้สูง หรืออุณหภูมิในร่างกายต่ำผิดปกติ
  • ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว
  • มีอาการซึมลง สับสน หรืออ่อนเพลีย
  • ความดันโลหิตต่ำ (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีความดันที่ต่ำกว่าปกติ)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปัสสาวะได้ลดลง

ในกรณีที่มีความดันโลหิตต่ำลงมาก จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังระบบต่างๆ ได้ลดลง ทำให้อวัยวะต่างๆ เกิดการล้มเหลว หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดภาวะช็อก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

 

วินิจฉัยอย่างไร? หากติดเชื้อในกระแสเลือด

เมื่อผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองอาจเกิดหรือสุ่มเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์จะวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การเพาะเชื้อจากตัวอย่างเลือดหรือของเหลวในร่างกาย และการตรวจภาพถ่ายรังสี

 


วิธีรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

              หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าผู้ป่วยเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แพทย์จะประเมินอาการเบื้องต้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยอาการที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจใช้วิธีรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อ โดยพิจารณาจากตัวเชื้อที่ตรวจพบ ซึ่งการรักษาด้วยการใช้ยา จำเป็นต้องใช้ยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

              ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในตำแหน่งที่เฉพาะในร่างกาย แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อกำจัดตำแหน่งที่ติดเชื้อ เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดการลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

 

จะเห็นได้ว่าภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแค่ร่างกายอ่อนแอหรือมีระบบภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อโรคต่างๆที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย หากใครที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที เนื่องจากเป็นภาวะที่ส่งผลอันตรายที่ถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้การดูแลตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จะป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ยังรวมถึงภาวะอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อร่างกายอีกด้วย

 

 

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn