-
โรคท้องผูก...ไม่ใช่แค่เพียงปัญหาด้านการถ่าย
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
08-พ.ค.-2567

โรคท้องผูก...ไม่ใช่แค่เพียงปัญหาด้านการถ่าย

ปัญหาเรื่องของการขับถ่าย หากเกิดขึ้นแล้วคงไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะอาการท้องผูก ที่หลายคนอาจกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่โดยไม่รู้ตัว และปล่อยไว้จนเกิดเป็น “โรคท้องผูกเรื้อรัง” ซึ่งอาจนำไปสู่โรคอันตรายอื่นๆ ที่ร้ายแรงในอนาคต ดังนั้นการหมั่นสังเกตอาการและเข้าใจถึงปัญหาของโรค ก็สามารถช่วยให้ปัญหาด้านการขับถ่ายดีขึ้นได้

 


ท้องผูก...โรคที่หลายๆ คนอาจละเลย

โรคท้องผูก (Constipation) คือ โรคที่เกี่ยวกับการขับถ่าย เนื่องมาจากการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหารได้ตามปกติ ซึ่งสามารถสังเกตอาการของโรคได้ดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือถ่ายแล้วรู้สึกไม่หมดหรือถ่ายไม่สุด
  • ถ่ายอุจจาระแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้แรงเบ่งมากๆ
  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือเป็นเม็ดเล็กๆ
  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น
  • ถ่ายอุจจาระแล้วรู้สึกเจ็บ หรือถ่ายแล้วมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ

 

ต้นเหตุของอาการท้องผูก

สาเหตุของโรคหท้องผูกนั้นไม่ได้มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง แต่เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ทั้งความผิดปกติของร่างกาย พฤติการบริโภค และอื่นๆ เช่น

  • ทานอาหารที่มีสัดส่วนของกากใยน้อย
  • ดื่มน้ำน้อย หรือดื่มน้ำไม่พียงพอในแต่ละวัน
  • มีนิสัยชอบกลั้นอุจจาระ
  • มีปัญหาทางด้านการทำงานของลำไส้ เช่น ลำไส้ใหญ่บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายทำงานไม่สัมพันธ์กัน
  • มีภาวะอุดกั้นของลำไส้ใหญ่จากภาวะต่างๆ
  • เป็นโรคทางระบบประสาทหรือทางสมอง
  • เป็นโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด
  • การทานยาบางชนิด

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูกได้ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจหาสาเหตุควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างแน่ชัด เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุประกอบกับแนะนำแนวทางการรักษาและปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้เกิดโรคท้องผูกขึ้นอีกในอนาคต

 


แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม...ก็พ้นจากโรคท้องผูก

  • รับประทานอาหารประเภทผัก หรือผลไม้ที่มีกากใยสูง รวมถึงธัญญพืชต่างๆ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน โดยควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
  • ฝึกวิธีการขับถ่ายอย่างถูกต้อง โดยฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาเพื่อให้ร่างกายจดจำช่วงเวลาในการถ่าย  รวมถึงไม่นั่งถ่ายในระยะเวลาที่นานเกินไป
  • อย่ากลั้นอุจจาระ หากรู้สึกปวดควรเข้าห้องน้ำเพื่ออุจจาระ
  • ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

หากมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย หรือสงสัยว่าตนเองอาจเข้าข่ายเป็นโรคท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างถูกวิธีและหาสาเหตุและแนวทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังจนทำให้เป็นปัญหาสุขภาพในอนาคต

 

อาการท้องผูก ไม่เพียงแต่จะเป็นแค่เรื่องของการถ่ายไม่ออกหรือถ่ายไม่สุด แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น เกิดแผลที่ทวารหนักหรือลำไส้ เป็นริดสีดวงทวาร หรือโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งลำไส้ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเป็นผลมาจากอาการท้องผูก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกายในระยะยาว ดังนั้นหากพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ตัวมีอาการหรือสุ่มเสี่ยงต่อ “โรคท้องผูก” ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

 

บทความโดย

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn