-
เห็นชัดทุกปัญหาสุขภาพท้อง...ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
19-ส.ค.-2567

เห็นชัดทุกปัญหาสุขภาพท้อง...ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร

              สุขภาพของช่องท้อง เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เมื่อเกิดความผิดปกติบางคนอาจเลือกที่จะปล่อยไว้ ให้อาการหายไปเอง แต่นั่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทางระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง และเมื่ออาการกำเริบอีกครั้ง นั่นอาจแสดงถึงระยะของโรคที่ได้ดำเนินไปสักระยะแล้ว

              ดังนั้น การตรวจคัดกรองระบบทางเดินอาหารจึงมีความสำคัญ ที่จะช่วยให้มองเห็นสุขภาพของช่องท้อง และสามารถบ่งชี้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยที่เรามองไม่เห็นได้ด้วยการตรวจที่เรียกว่า “การส่องกล้องทางเดินอาหาร”

 


มาทำความรู้จักกับ “การส่องกล้องทางเดินอาหาร” กันก่อน

              การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy) เป็นขั้นตอนหรือวิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า "เอ็นโดสโคป" (endoscope) มีลักษณะเป็นท่อที่สามารถยืดหยุ่นได้ ภายในจะมีเลนส์กล้องและดวงไฟเล็กๆ สำหรับดูภายในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเลนส์กล้องที่สอดเข้าไปดูอวัยวะภายใน จะฉายภาพออกมาที่จอมอนิเตอร์ ซึ่งทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพภายในระบบทางเดินอาหารได้อย่างชัดเจน

 

การส่องกล้องทางเดินอาหาร...ทำได้ 2 ประเภท

  1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) เป็นการตรวจหาความผิดของระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่บริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยก่อนทำการส่องกล้องแพทย์อาจให้ยาเพื่อให้สะดวกต่อการส่องกล้อง จากนั้นจึงใช้กล้องเอ็นโดสโคป สอดเข้าไปผ่านทางปาก เพื่อดูอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการกลืนลำบาก กรดไหลย้อน อาการปวดท้องเรื้อรัง การตรวจหาแผลในกระเพาะอาหาร อาการเลือดออกในช่องท้อง รวมถึงเนื้องอกต่างๆ และมะเร็ง
  2. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย ผ่านทางปากทวารหนักขึ้นไปจนถึงลำไส้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย โดยแพทย์อาจให้ยาเพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกผ่อนคลายลงและสะดวกต่อการตรวจ จากนั้นจึงจะสอดกล้องเอ็นโดสโคป ผ่านเข้าไปทางทวารหนักเพื่อเข้าไปดูความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ ลำไส้อักเสบ ตรวจหาสาเหตุของโรคท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง ความผิดปกติของลักษณะอุจจาระ รวมถึงอาการเสี่ยงของมะเร็งลำไส้

                ทั้ง 2 วิธีในการส่องกล้องนี้ เป็นวิธีที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดช่องท้องให้เกิดแผล และการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารยังสามารถตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อที่น่าสงสัยหรือมีความผิดปกติภายในลำไส้ เพื่อนำไปตรวจและวินิจฉัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย



เตรียมตัวอย่างไรก่อนการ “ส่องกล้องทางเดินอาหาร”

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน

  • งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการส่องกล้อง 6-8 ชั่วโมง
  • กรณีมียาประจำตัวที่ต้องทานเป็นประจำ แพทย์จะสั่งให้งดทานยาบางชนิด (ตามคำแนะนำของแพทย์) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการส่องกล้อง
  • กรณีที่มีการใช้ยาชาหรือยานอนหลับ ผู้เข้ารับการตรวจควรมีผู้แลมาด้วย เนื่องจากหลังจากการส่องกล้องอาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจอีกสักพัก

 

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง

เนื่องจากการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างจะมีการตรวจลำไส้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดลำไส้ใหญ่เพื่อให้แพทย์มองเห็นภายในลำไส้ได้ชัดที่สุด โดยแพทย์อาจให้ยาระบายหรือใช้การสวนล้างลำไส้ เพื่อทำความสะอาดลำไส้ จากนั้นก่อนการเข้ารับการส่องกล้องสามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้

  • งดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการส่องกล้อง 6-8 ชั่วโมง
  • กรณีมียาประจำตัวที่ต้องทานเป็นประจำ แพทย์จะสั่งให้งดทานยาบางชนิด (ตามคำแนะนำของแพทย์) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการส่องกล้อง
  • ก่อนวันเข้ารับการส่องกล้อง 1 วัน ควรทานอาหารที่ไม่มีกากใยหรือมีกากใยน้อย เช่น ซุป หรือโจ๊ก
  • กรณีที่มีการให้ยานอนหลับ ผู้เข้ารับการตรวจควรมีผู้แลมาด้วย เนื่องจากหลังจากการส่องกล้องอาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจอีกสักพัก

 


ทำไมถึงควร “ส่องกล้องทางเดินอาหาร”

  • มีการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร การอักเสบหรือการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหาร ตรวจหาติ่งเนื้อ และมะเร็ง
  • ไม่เจ็บปวด และไม่ทำให้เกิดแผล เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อดูระบบทางเดินอาหารโดยตรง
  • สามารถตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการได้ทันที ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียด
  • สามารถทำการรักษาได้ทันทีในระหว่างการส่องกล้อง เช่น การหยุดเลือดออกจากแผลในระบบทางเดินอาหาร หรือการขยายหลอดอาหารที่ตีบ
  • สามารถประเมินอาการที่ไม่ชัดเจนที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ เช่น อาการปวดท้อง อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเลือดออกจากทางเดินอาหาร

 

               จะเห็นได้ว่าการส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นขบวนการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่น่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนคิด ดังนั้น หากตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีปัญหาที่เกี่ยวกับโรคทางระบบทางเดินอาหาร “การส่องกล้องทางเดินอาหาร” สามารถช่วยวินิจฉัยและรักษาปัญหาที่ท่านกำลังเผชิญอยู่ได้

 

บทความโดย

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn